ยกฟ้อง 'จาตุรนต์' ไม่ผิด ' ม.116 ' แถลงข่าวไม่เห็นด้วย 'รัฐประหาร' ปี 57

ยกฟ้อง 'จาตุรนต์' ไม่ผิด ' ม.116 ' แถลงข่าวไม่เห็นด้วย 'รัฐประหาร' ปี 57

ศาลยกฟ้อง 'จาตุรนต์ ' ไม่ผิด 116 คดี ปมแถลงข่าวกับสื่อต่างประเทศ ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของ คสช. และเรียกร้องให้คืนอำนาจให้ประชาชนโดยจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่ห้องพิจารณา 812 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานจำเลยในคดีหมายเลขดำคดีดำ อ.3055/62ที่พนักงานอัยการคดีอาญา9 เป็นโจทก์ฟ้อง นายจาตุรนต์ ฉายแสง  อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทยเป็นจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืน ขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ฉบับที่37/2557,พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(3)    กรณีวันที่ 27 พ.ค.57 จำเลยได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทั้งต่อต้านการเข้าควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.) โดยให้ประชาชนเห็นว่า  การเข้าควบคุมอำนาจของ คสช. เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และคำสั่งหรือประกาศ คสช.ก็ไม่ถูกต้องตามกฎหมายฯทำให้ประชาชน 

การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำเพื่อให้ประชาชนทั่วไปต่อต้านการคุมอำนาจของ คสช. เป็นการยั่วยุปลุกปั่นทำลายความน่าเชื่อถือของคณะ คสช.เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร  ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 16 ,368,91  พ.ร.บ.เกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอรฯ พ.ศ.2550 มาตรา14

โดยวันนี้ นายจาตุรนต์ เดินทางมาศาลพร้อมด้วย นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นทนายความให้จำเลย และประชาชนที่รอให้กำลังใจจำนวนหนึ่ง

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทำความผิดตามฟ้อง116หรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 116 ระบุว่า กระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
แต่จำเลยเพียงแต่ไปงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนต่างประเทศ มีผู้เข้าฟังประมาณ 80 คน และจำเลยได้แถลงเป็นภาษาอังกฤษใจความสรุปได้ว่า ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ขอเรียกร้องให้คืนอำนาจให้ประชาชนโดยจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว ขอให้ประชาชนอดทนและแสดงออกอย่างสันติวิธี

แม้พยานฝ่ายโจทก์จะให้เหตุผลว่า จำเลยเป็นบุคคลที่เคยดำรงค์ตำแหน่งสำคัญ และตำแหน่งสุดท้ายคือ รมว.กระทรวงศึกษา เป็นคนที่มีประชาชนให้ความเชื่อถือ และการที่จำเลยได้แสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับคสช.ในช่วงเริ่มแรกของการยึดอำนาจ ยังมีความไม่สงบในหลายพื้นที่ การกระทำของจำเลยอาจจะเป็นเหตุให้ยุยงปลุกปั่นประชาชนให้หลงเชื่อคล้อยตาม และออกมาต่อต้านการรัฐประหาร จนเกิดความไม่สงบในบ้านเมือง 

แต่ความผิดตาม ม.116 ต้องปรากฎโดยชัดแจ้ง เป็นการละเมิดกฎหมายของแผ่นดิน การที่จำเลยไปแถลงข่าวดังกล่าว เป็นไปตามสิทธิเสรีภาพโดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการทางการแสดงออกโดยคำพูดที่ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก อย่างไรก็ตามไม่ปรากฎว่าหลังจากจำเลยได้แถลงข่าวแล้วมีประชาชนออกมาสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย ไม่สงบในสังคม และในข้อความที่จำเลยแถลงไม่มีข้อความใดที่เจตนาให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยตามความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ไม่ได้มีพยานหลักฐานใดมาแสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เฟซบุ๊ก Chaturon.FanPage” กลับได้ข้อเท็จจริงจากพยานว่าหลังจากจำเลยแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนจำเลยถูกควบคุมตัวและไม่อนุญาตให้จำเลยใช้โทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารใด ๆ สอดคล้องกับพยานจำเลยยืนยันว่าหลังจากทหารเข้าควบคุมตัวจำเลยถูกยึดโทรศัพท์มือถือและไม่มีเครื่องมือสื่อสารไม่สามารถติดต่อเครือญาติได้ เมื่อข้อความที่มีการโพสต์ในเฟซบุ๊กตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ในช่วงระหว่างที่จำเลยถูกควบคุมตัว พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่มีมูลเพียงพอที่จะรับฟังได้ พิพากษายกฟ้อง.