แบรนด์เสื่อม กระแสทรุด ? “เพื่อไทย-ก้าวหน้า” พ่ายยับ

แบรนด์เสื่อม กระแสทรุด ? “เพื่อไทย-ก้าวหน้า” พ่ายยับ

“บ้านใหญ่” รักษาแชมป์ เข้าวินเกือบทุกจังหวัด “คณะก้าวหน้า” ตั้ง 3 ทีมลุยต่อ เพื่อไทยจ่อปรับยุทธศาสตร์

บทสรุปศึกเลือกตั้งนายก อบจ. “บ้านใหญ่” รักษาแชมป์เข้าวินเกือบทุกจังหวัด “ธนาธร-คณะก้าวหน้า” สูญพันธุ์ ส่งชิง 42 จังหวัดพ่ายเรียบ แก้เกมตั้ง 3 ทีมระดับท้องถิ่นลุยต่อ “เพื่อไทย” ส่งผู้สมัคร 25 คน คว้าชัยได้เพียง 9 คน พื้นที่ภาคกลางแพ้เรียบ ภาคอีสานหลุด 6 เก้าอี้ “วิสาระดี” พ่ายคาเชียงราย

เสร็จศึกเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บรรดาพรรคการเมือง-กลุ่มการเมือง ต่างก็มีโจทย์ให้ต้องปรับ-ต้องแก้ เพราะผลการลงคะแนนชี้วัดความนิยมทั้งตัว พรรคการเมือง-ตัวบุคคล

และแม้ศึกนายก อบจ.จะจบลง แต่ยังมีอีกหลายศึกที่จะต้องขับเคลื่อน ขับเคี่ยวกันต่อ บนสนามการเมืองที่ชัยชนะอาจไม่จีรังยั่งยืน

ความฝัน “ล้มบ้านใหญ่” ยังเป็นแค่วาทกรรมของ “คณะก้าวหน้า” และ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ในฐานะประธานคณะก้าวหน้า ที่หมายมั่นปั้นมือ ส่งคนลงรับสมัคร 42 จังหวัด โดยคัดเอาแบบเนื้อ ๆ เน้น ๆ เอาเฉพาะพื้นที่ที่ตัวเองมีลุ้น

แต่ปรากฎว่า หลังปิดหีบเลือกตั้ง ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการพบว่า ผู้สมัครของ “คณะก้าวหน้า” ไม่มีใครได้รับเลือกเป็นว่าที่ “นายกอบจ.”เลย แม้แต่คนเดียว !

เรื่องนี้ สะท้อนหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นกับทางพรรคสีส้ม เรื่อยมาตั้งแต่ “พรรคอนาคตใหม่” จนมาถึง “พรรคก้าวไกล” และ “คณะก้าวหน้า” ว่ากระแสบนโลกโซเชียลมีเดีย "ใช้ไม่ได้ผล" ในการเลือกตั้งท้องถิ่น จนถูกเหน็บแนมว่า มีแค่ “ทวิตบุรี” เท่านั้นที่ “ธนาธร-ก้าวหน้า-ก้าวไกล” คว้าชัย

ตามปณิธานของ “ธนาธร” คือต้องล้ม “บ้านใหญ่” ตอนนี้คงรู้แล้วว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ความเป็นบ้านใหญ่ หรือตระกูลการเมืองในพื้นที่ ได้เปรียบตรงที่มีฐานเสียงมาอย่างยาวนาน มีประสบการณ์ มีผลงานที่คนในพื้นที่สัมผัสได้ไม่มากก็น้อย การจะเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันที คงเป็นไปได้ยาก

ยกตัวอย่างพื้นที่ จ.ชลบุรี ที่อาจพูดเหมารวมเป็น “บ้านใหญ่โมเดล” ได้ชัดเจนที่สุดพื้นที่หนึ่ง ที่ “คณะก้าวหน้า” ประกาศศักดาต้องล้มให้ได้ ด้วยการส่ง “พลอยลภัสร์ สิงห์โตทอง” ลูกสาว “จิรวุฒิ สิงห์โตทอง” หรือ “เฮียเป้า” ชนกับ “วิทยา คุณปลื้ม”

“ก้าวหน้า” อาจประเมินขุมกำลังและฐานเสียงของ “สิงห์โตทอง” และ กระแสของ “ธนาธร” ว่ามีโอกาสชนะสูง แต่ผลที่ออกมาคือ “วิทยา” กวาดไปได้ 337,107 คะแนน ส่วน “พลอยลภัสร์” ได้ไป 168,997 คะแนน

คราวนี้ “บ้านใหญ่” สามารถกู้ชื่อให้กับ “ตระกูลคุณปลื้ม” ได้ หลังจากเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา “อิทธิพล คุณปลื้ม” ดันแพ้เลือกตั้งแบบไม่คาดคิดให้คนของ “พรรคสีส้ม”

เช่นเดียวกับอีกหลายพื้นที่ ที่ “บ้านใหญ่” เดินหน้าคว้าชัย อาทิ นันทิดา แก้วบัวสาย บ้านใหญ่ปากน้ำ จิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ บ้านใหญ่นครปฐม อุดม ไกรวัตนุสสรณ์ บ้านใหญ่มหาชัย ปิยะ ปิตุเตชะ บ้านใหญ่ระยอง ขวัญเรือน เทียนทอง บ้านใหญ่สระแก้ว ฯลฯ

ปัจจัยหลักที่ผู้สมัครนายก อบจ. สังกัด “คณะก้าวหน้า” พ่ายแพ้ มีดังนี้

1.แคมเปญเลือกฝ่ายประชาธิปไตยไม่ได้ผล เพราะประชาชนส่วนใหญ่แยกการเมืองท้องถิ่นกับระดับชาติ จึงเลือก“คนหน้าเก่า-คนใกล้ตัว”เสียเป็นส่วนใหญ่

2.เฟิร์สโหวตไปใช้สิทธิ์น้อย รวมถึงคนชั้นกลาง คนรุ่นใหม่ที่ไม่กระตือรือร้น เหมือนตอนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส.

3.ม็อบราษฎรได้ก่อให้เกิดกระแส “ต้านธนาธร” และรณรงค์ไม่เลือกผู้สมัครนายก อบจ. คณะก้าวหน้า ของมวลชนฝ่ายจารีต

4.ชัยชนะของพรรคอนาคตใหม่ (พรรคก้าวไกล) ทำให้กลุ่มการเมือง “บ้านใหญ่” ปรับตัว ดูจากการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ มีการใช้สื่อใหม่หาเสียงมากขึ้น

โดยหลังจากนี้ “ธนาธร-ก้าวหน้า” ประกาศจะเดินหน้าต่อ ทำงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ทำงานการเมืองท้องถิ่นในระดับพื้นฐานต่อเนื่อง 2.ขับเคลื่อนรณรงค์ในประเด็นทางการเมืองระดับชาติ 3.ตรวจสอบและเสนอการทำงานของ อบจ.ผ่าน สจ. และ เตรียมคนลงเลือกตั้งเทศบาล และ อบต.

สำหรับพรรคเพื่อไทย (พท.) ส่งผู้สมัครในนามพรรคลงชิงชัย 25 จังหวัด แต่กลับมีผู้สมัครเข้าวินเพียง 9 จังหวัด ถือว่าเสียหน้าไม่น้อย

การคว้าชัยไม่ถึงครึ่งที่ส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ ถือว่าผิดฟอร์มพรรคการเมืองยี่ห้อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งที่พรรคเพื่อไทยทำโพลสำรวจแล้วว่าทั้ง 25 จังหวัดที่ส่งผู้สมัครมีโอกาสคว้าชัยสูง

โดยภาคเหนือพรรคเพื่อไทย ส่งผู้สมัครนายก อบจ. 6 จังหวัด คว้าชัยมาได้ 5 จังหวัด ประกอบด้วย พิชัย เลิศพงศ์อดิศร เชียงใหม่ อนุสรณ์ วงศ์วรรณ ลำพูน นพรัตน์ ถาวงศ์ น่าน ตวงรัตน์ โล่สุนทร ลำปาง และ อนุวัธ วงศ์วรรณ แพร่ ที่ได้รับชัยชนะ

แต่เต็งจ๋าอย่าง “น้องยิ้ม” วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์อดีต ส.ส.เชียงราย ลูกสะใภ้ของ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พ่ายแพ้แก่ “สจ.นก” อทิตาธร วันไชยธนวงศ์

ภาคกลางพรรคเพื่อไทย ส่งผู้สมัครนายก อบจ. 9 จังหวัด แต่กลับแพ้เรียบ ไล่มาตั้งแต่ พล.ต.เทียมศักดิ์ สุขานุยุทธ สุพรรณบุรี เกรียงไกร กิ่งทอง ระยอง สิทธิชัย กิตติธเนศวร นครนายก

เกียรติกร พากเพียรศิลป์ ปราจีนบุรี วินัย วิจิตรโสภณ นครปฐม ธนวุฒิ โมทย์วารีศรี สมุทรสงคราม เชาวรินทร์ ชาญสายชล สมุทรสาคร วิชิต ปลั่งศรีสกุล ประจวบคีรีขันธ์ และสุรสาล ผาสุก สิงห์บุรี

ภาคอีสานฐานที่มั่นของเพื่อไทย ส่งผู้สมัครนายก อบจ. 10 จังหวัด เหลือรอดเพียง 4 จังหวัดเท่านั้น ได้แก่ วิเชียร ขาวขำ อุดรธานี กานต์ กัลป์ตินันท์ อุบลราชธานี พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ มุกดาหาร และวิเชียร สมวงษ์ ยโสธร

6 จังหวัดที่แพ้ได้แก่ สุชีพ เศวตกมล ชัยภูมิ ศรีเมือง เจริญศิริ มหาสารคาม ธนพล ไลละวิทย์มงคล หนองคาย วิชัย สามิตร หนองบัวลำภู เฉลิมขวัญ หล่อตระกูล กาฬสินธุ์ สมชอบ นิติพจน์ นครพนม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวน นายก อบจ. ที่พรรคเพื่อไทยเข้าวินถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายมาก เนื่องจากวงยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยวางเป้าเอาไว้ที่อย่างน้อยต้องได้ นายก อบจ. 15 จังหวัดเป็นอย่างน้อย แต่เมื่อไม่ได้ตามเป้าที่วางเอาไว้ “ทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย" จึงต้องหาจุดอ่อน เพื่อแก้ปัญหารับศึกเลือกตั้งครั้งหน้า

แต่ปัญหาหลักของพรรคเพื่อไทย หนีไม่พ้นความไม่เป็น “เอกภาพ” ภายในพรรค ภายหลัง “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ลาออก ทำให้บรรยากาศภายในพรรคเกิดความแตกแยก และมี “แกนนำพรรคเพื่อไทย” หลายคนเตรียมเก็บข้าวของหนีไปซบ “สุดารัตน์” ที่กำลังปลุกปั้น “พรรคสร้างไทย”

นอกจากนี้การที่ “ทักษิณ” มีบัญชาการทางลับ-ทางเปิด สั่งให้แกนนำพรรค ทุ่มทุกสรรพกำลังช่วย “ส.ว.ก๊อง” จนเอาชนะ “บุญเลิศ” ได้ที่สนามเชียงใหม่ จนละทิ้งสนามจังหวัดอื่นเกือบหมด น้อยครั้งมากที่ แกนนำพรรคเพื่อไทยจะลงพื้นที่จังหวัดอื่น

โดยเฉพาะภาคอีสาน ที่เหมือนจะโดนแกนนำพรรคละทิ้ง จนผู้สมัครหันไปใช้บริการ “สุดารัตน์” ให้ช่วยลงพื้นที่หาเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย แม้ทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย จะสั่งห้ามไม่ให้ผู้สมัครใช้บริการ “สุดารัตน์” พร้อมคาดโทษเอาไว้ด้วย แต่ผู้สมัครโนแคร์ เพราะต้องเอาตัวรอดไว้ก่อน

ทว่าเมื่อ “ทักษิณ-เพื่อไทย” ไม่เต็มร้อยกับผู้สมัครในหลายพื้นที่ จนต้องประสบความพ่ายแพ้ รอจับตาการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งต่อไป อาจจะมี “คนอกหัก” จากการชิงเก้าอี้นายก อบจ. ไปซบฝั่งตรงข้าม หรือซบ “สุดารัตน์” ก็เป็นได้

บทสรุปของศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้ ทั้งพรรคเพื่อไทย-คณะก้าวหน้า พ่ายแพ้ยับเยิน จนต้องทบทวนยุทธศาสตร์การหาเสียง ยุทธศาสตร์การเคลื่อนเกมการเมืองกันใหม่เกือบทั้งหมด เพราะหากไม่ยกเครื่องใหม่ ยิ่งทำให้ “ขั้วตรงข้าม” ทิ้งห่างมากขึ้น