เปิดใจ “วิชา พูลวรลักษณ์” ฉายภาพปีแห่งความมืดมิดของธุรกิจโรงหนัง

เปิดใจ “วิชา พูลวรลักษณ์”  ฉายภาพปีแห่งความมืดมิดของธุรกิจโรงหนัง

โควิด-19 ชนวนเหตุให้ธุรกิจเผชิญวิบากกรรมทั้งโลก มหาวิกฤติที่ลากยาวมาราธอนข้ามปี แต่ "ซีอีโอนักสู้" ต้องไม่จนแต้มต่ออุปสรรค ห้วงเวลามรณะหรือ No Time To Die คิด-ทำในสิ่งที่เหนือคาดหมาย คุยกับ "เจ้าพ่อโรงหนัง" กับนิยาม The Dark Year

แรกเริ่มที่โควิด-19 ระบาด ผู้ประกอบการคาดหวังว่า อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์”  จะไม่กระเทือน เพราะพึ่งพาคอหนังในประเทศ(Local consumption) แต่กลับผิดคาด! และสร้างความเซอร์ไพรส์ไม่น้อย เพราะกลายเป็นการเจอวิกฤติลากยาวไม่แพ้ธุรกิจอื่นๆ เมื่อสตูดิโอ ผู้สร้างหนังระดับโลกอย่าง ฮอลลีวู้ดไม่ยอมปล่อยหนังออกมาฉาย เพราะกังวลกับไวรัสมฤตยูอยู่ 

สถานการณ์ดังกล่าวคือการฉายภาพจาก วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เจ้าพ่อโรงหนังเบอร์ 1 ของเมืองไทย

เมื่อโรงหนังต้องพึ่งพา คอนเทนท์ระดับโลก  แต่สหรัฐฯเจอการระบาดโควิดอย่างสาหัส ทำให้หนังฟอร์มยักษ์ต้องเลื่อนฉายแล้วเลื่อนอีก ผ่านไป 10 เดือน ก็ยังไม่มีหนังเข้าโรง สร้างเซอร์ไพรส์ให้ธุรกิจอย่างยิ่ง

“Amazing มาก เหลือเชื่อมาก เราไม่เคยเจอว่าไม่มีหนังฮอลลีวู้ดฉายแม้แต่เดือนเดียว”  วิชา  ย้ำอีกว่าห้วงเวลานี้ ทำให้พบสัจธรรมอย่างหนึ่งคือความแน่นอนคือความไม่แน่นอนและในฐานะซีอีโอ วิชายังคงกรำงานหนัก การเดินผ่านโปสเตอร์หนังฟอร์มยักษ์ทุกวัน อย่าง “007 James Bond” ที่จะฉายปีหน้าคือตอน No Time To Die หรือ พยัคฆ์ร้ายฝ่าเวลามรณะ ทำให้ต้องมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ ขอสู้ศึกที่มองไม่เห็น ด้วยการจัดกระบวนทัพ ปรับโครงสร้าง หาโมเดลธุรกิจใหม่ที่มีความแข็งแรง ประคองธุรกิจให้รอด ยิ่งกว่านั้นต้องต่อยอดสู่ความยั่งยืนในระยะยาว 

หนังใหญ่ๆเลื่อนฉายไปปี 2564 หมด แล้วเมเจอร์ฯจะเป็นอย่างไร เดือนมิถุนายนที่เรากลับมาเปิดโรงหนัง รู้แล้วว่าไม่มีหนังฉาย แต่เราไม่อยากปิด ไม่อยากให้ผู้บริโภครู้สึกว่าโรงหนังโดนโควิดปิดยาว ผมเป็นนักสู้ จึงไฟต์ เป็นเวลาที่ No Time To Die”

160859813123

สำหรับกลยุทธ์ฝ่าห้วงเวลาอันเลวร้าย จะโฟกัส 3T ประกอบด้วย 1.Thai Movie การโฟกัสคอนเทนท์หนังไทย ซึ่งเมเจอร์ฯ ก้าวสู่การเป็นผู้สร้างหนังไทยมา 7-8 ปี ผ่านการเรียนรู้หนังที่โดนใจผู้บริโภคจนทำเงินถล่มทลายและแป้ก! บ้าง แต่อัตราประสบความสำเร็จมีมากขึ้น ขณะเดียวกันมีพันธมิตรทั้งซีเจ, เวิร์คพอยท์, ยอร์ช ฤกษ์ชัย และวิสูตร พูลวรลักษณ์ ที่เชี่ยวชาญในเส้นทางของตัวเอง มาร่วมสร้างหนังไทยทำเงินไม่น้อย เช่น อีเรียมซิ่งโกย 200 กว่าล้านบาท ส่งผลต่อรายได้และกำไรที่มากขึ้น 

การทำหนัง ยังมีคัมภีร์สำคัญ คือไม่สร้างหนังจากความชอบของผู้กำกับแต่ต้องดูความต้องการ(Insight) ของคนดู ดังนั้น จึงมีคณะกรรมการ จากเอเยนซี่ ฝ่ายต่างๆ มาช่วยสแกน จึงจะผ่านด่านมาผลิตได้ โดยปีนี้ เมเจอร์ฯส่งหนังไทยเข้าโรง 11 เรื่อง ปีหน้าจะเพิ่มเกิน 20 เรื่อง ภารกิจสร้างหนังไทยยังต้องการผงาดส่งออกหนังไทยสู่ตลาดโลกตามสไตล์ “Tollywood of the World” ด้วย 

สำหรับความพยายามสร้างหนังไทยเพื่อแบ่งเค้กหนังฮอลลีวู้ดให้ได้ 50% หรือมีหนังไทยฉาย 80-100 เรื่อง ทำมานานแล้ว แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก้าวย่างการเติบโตมีมากขึ้น เพราะปัจจุบันสตรีมมิ่งกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้หนังไทยมีที่ยืนในตลาด 

การเข้ามาของเน็ตฟลิกซ์ระยะแรก อาจดูไร้คู่แข่ง และความง่วงคือศัตรูในการดึงเวลาจากคนดูให้เกาะติดหน้าจอ เมื่อมีแพลตฟอร์มหลักโดดเด่นเพียงรายเดียวจึงทำให้เน็ตฟลิกซ์มีคอนเทนท์ทั้งหนัง ซีรี่ส์ เข้าไปเสิร์ฟคนดูจำนวนมาก 

ทว่า วันนี้ตัวจริงอย่างดีสนีย์ออกโรงสู้ศึกสตรีมมิ่ง ส่งดีสนีย์ พลัสมาท้าชิง และยังมียักษ์ใหญ่อีกหลายรายตบเท้าสู่สังเวียนดังกล่าว การแข่งขันที่ดุเดือด เอื้อให้โอกาสหนังไทย เพราะทุกรายต่างต้องการคอนเทนท์ ดังนั้น หนังไทยที่วิชาผนึกพันธมิตรทุ่มทุนสร้างราว 1 ล้านดอลลาร์หรือราว 30 ล้านบาทต่อเรื่อง จึงนำไปทำเงินต่อได้ใน Windows อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสตรีมมิ่ง หรือวิดีโอออนดีมานด์(VOD) ต่างๆ ตลอดจนขายให้กับฟรีทีวี ดิจิทัลทีวีฯ  นำไปออกอากาศนั่นเอง บางเรื่องสามารถทำเงินได้ 5-6 แสนดอลลาร์ เงินที่เข้ากระเป๋าจึงเป็นกำไรเพราะมีต้นทุนเดิมจากการสร้างหนังเพื่อฉายในโรงอยู่แล้ว

160859803839

ปี 2563 การพึ่งพาหนังไทยเข้าฉาย ยังสะท้อนว่า อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ที่ยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งเพื่อสู้กับโควิดล้วนเป็นตลาดที่พึ่งพา Local Content ด้วย ดังนั้น หลายประเทศทั้งไทย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น จึงค่อนข้างอยู่รอดท่ามกลางวิกฤติ ขณะที่สหรัฐดินแดนฮอลลีวู้ด หนังใหญ่พึ่งตลาดในประเทศ 25% อีก 75% พึ่งพาตลาดต่างประเทศทั่วโลกนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ปีนี้โรงหนังขาดคอนเทนท์เข้าฉาย แต่ปี 2564 วิชาย้ำว่าจะเห็นหนังฟอร์มยักษ์ที่เลื่อนและคอนเฟิร์มว่าฉายแน่นอนมากถึง 300 เรื่อง จากปกติมีฉายเฉลี่ย 250 เรื่องต่อปี 

 2.Technology การก้าวเป็น Major 5.0 นำเทคโนโลยีมาอยู่ในทุกส่วนของการจองตั๋ว ทำโปรโมชั่นตอบโจทย์เฉพาะคน(Personalization) ลดรอยต่อโลกออฟไลน์และออนไลน์ มุ่งพัฒนาแอ๊พพลิเคชั่นของเมเจอร์จะอัพเกรดสู่การเป็นซูเปอร์แอ๊พในอนาคตด้วย ยิ่งกว่านั้นคือการยกระดับองค์กรสู่การเป็นองค์กรต้นแบบด้าน “Total Digital Organization” เพื่อเป็นหนึ่งในเสาหลักของเมเจอร์ 

ทั้งนี้ สิ่งที่จะเห็นพัฒนาให้โดดเด่นมากขึ้น คือแอ๊พพลิเคชั่น การทำงานของปัญญาประดิษฐ์หรือAI ที่ชาญฉลาดกว่าเดิม เพื่อให้การทำตลาดแบบ Personalization แม่นยำ โดยที่ผ่านมา เมเจอร์ฯ โหใโปรโมชั่นต่อปีหลายกิจกรรม เช่น ครบรอบ 25 ปี ขายตั๋วราคา 25 บาท กวาดยอดขายตั๋วหนัง 7-8 แสนใบ ครบรอบ 26 ปี ทำโปรโมชั่นขายตั๋ว 26 บาท แม้จะต้องเว้นระยะห่าง แต่ทำเงินกว่า 4 แสนใบ เป็นต้น

ตลอดเวลาที่เกิดวิกฤติเราไม่ได้ว่างอยู่เฉยๆ แต่ยุ่งมากในการโฟกัสพัฒนาเทคโนโลยี อะไรที่ตอบโจทย์ลูกค้าเราได้ ทำเลย และเราใช้เงินลงทุนกับตรงนี้ค่อนข้างมาก เพราะคอนเซ็ปต์ของเมเจอร์ฯ ต้องการเป็น Total Digital Organization” 

3. Trading เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่ต่อยอดจุดแข็งเดิมของเมเจอร์ฯ นั่นคือการขาย  "ป๊อปคอร์น" ที่ทำเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ให้บริษัท

สำหรับการผลิตป๊อปคอร์นจำหน่าย ประเดิมวางขายหน้าโรงหนังเมเจอร์ฯ 172 สาขา แต่ปีหน้าจะรุกเข้าห้างค้าปลีกชั้นนำของเมืองไทย หากกระจายสินค้าได้กว้างขึ้น ปีหน้าตั้งเป้ายอดขายกว่า 200 ล้านบาท หรือราว 10% ชิมลาง โดยกลยุทธ์นี้วิชาบอกว่าราคาถูกกว่าแบรนด์ระดับโลกอย่างการ์เร็ตด้วย ส่วนรสชาติผู้บริโภคต้องตัดสินลงคะแนนกันเอง

160859793232

"วิชา" กับการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่เสิร์ฟ "ป๊อบคอร์น" อร่อยตรงถึงบ้าน ต่อยอดจุดแข็งป๊อปคอร์นพันล้าน!!

แม้จะมีกลยุทธ์ 3T แต่สิ่งหนึ่งที่ยังต้องทำต่อเนื่องคือการ ลงทุน โดยเฉพาะขยายสาขาโรงภาพยนตร์ ซึ่งปีหน้าจะมีสาขาใหม่เพิ่มเปิด 20 โรง จากปัจจุบันเมเจอร์ฯ มีสาขาที่เปิดให้บริการรวมทั้งสิ้น 172 สาขา 817 โรง 185,874 ที่นั่ง แบ่งเป็น  สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 47 สาขา 357 โรง 81,388 ที่นั่ง ต่างจังหวัด 117 สาขา 421 โรง 96,037 ที่นั่ง และสาขาในต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรง 8,449 ที่นั่ง

โดยทุกโปรเจคทั้งการสร้างหนังไทย การอัพเกรดเทคโนโลยี การผลิตป๊อปคอร์นจำหน่าย และขยายสาขาใช้เงินลงทุนรวม 1,000 ล้านบาท 

วิชาบอกว่า การเกิดโควิดทำให้ผู้นำคิดและทำในสิ่งที่ตนเองไม่คาดคิดว่าจะทำได้มาก่อน อย่างทำหนัง มองตัวเองเป็นเพียง “Baby” เป็นต้น ทว่า หมากรบเหล่านี้จะเป็นกุญแจความสำเร็จทำให้เมเจอร์ฯ ฟื้นตัวกลับมาในปีหน้า พลิกจากขาดทุนกลับมาทำ กำไรได้อีกครั้ง 

ปี 2563 เป็น The Dark Year ธุรกิจโรงหนังจอมืด เพราะไม่มีหนังฉาย และเป็นครั้งแรกที่เมเจอร์ฯต้องขาดทุน ในรอบ 20 กว่าปีนับตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนปีหน้าหวังว่าจะเป็นปี Movie is back และเมเจอร์ฯ จะฟื้นเป็นตัว V มาจาก Vicha”

ทั้งนี้ 9 เดือนแรก เมเจอร์ฯมีรายได้กว่า 2,800 ล้านบาท ขาดทุนกว่า 855 ล้านบาท โดยทุกไตรมาสที่รายงานผลประกอบการวิชาไม่อยากเห็นตัวเลขแต่อย่างใด 

รายได้ปีนี้ไม่อยากดู ตัวเลขขาดทุนเกือบพันล้าน ประกาศตัวเลขแต่ละไตรมาสไม่อยากดูตัวเลข ปิดตัวเลขไว้วิชาเล่าพร้อมรอยยิ้ม  ทว่าปีหน้า พันธกิจสำคัญ คือการพยาพยามผลักดันรายได้ให้กลับไปยืนเทียบเท่าปี 2562 และกลับมาทำกำไรหรือ Turnaround ให้ได้

โควิดเป็นเหตุการณ์ที่มาแล้วก็ไปหากมีวัคซีน แต่คนจะยังดูหนังหรือเปล่านี่คือคำถามที่กำลังติดตามเป็นหลัก ถ้าถามผมโควิดถือเป็นประสบการณ์ที่สนุก ตื่นเต้น และเรายังหวังว่าจะเป็น Thank you COVID จริงๆ ที่ทำให้เราทำอะไรใหม่ๆ และแข็งแรงขึ้น