'เศรษฐกิจดิจิทัล' แข่งขันหรือปกป้อง?

'เศรษฐกิจดิจิทัล' แข่งขันหรือปกป้อง?

"เศรษฐกิจดิจิทัล" ผลจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต ที่จะเข้ามาแทนที่แรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ในแง่ธุรกิจผู้เล่นรายใหญ่มักจะมีอำนาจผูกขาด กำจัดโอกาสสตาร์ทอัพ ขณะที่ด้านแรงงานจะทำอย่างไรให้สามารถแข่งขันได้ต่อไป?

ข่าวล่าสุดที่ทางการสหรัฐ (Federal Trade Commission : FTC) และอัยการจากรัฐต่างๆ 46 รัฐได้รวมกันฟ้องร้องบริษัท Facebook Inc. อย่างเป็นทางการว่าได้ละเมิดกฎหมายป้องกันการผูกขาด (antitrust laws) นั้น ต้องถือว่าเป็นข่าวใหญ่เลยทีเดียว เพราะเป็นผู้ถูกฟ้องร้องรายแรกๆ นับจากที่กฎหมายนี้ถูกทิ้งลืมไปเป็นเวลาหลายปี 

เนื้อหาในข้อกล่าวหาได้ระบุว่า บริษัทมีพฤติกรรมใช้ความได้เปรียบในเรื่องคลังข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผู้ใช้บริการของเฟซบุ๊คที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อชักจูงนักพัฒนาโปรแกรมอื่นๆ (ที่เป็นบุคคลที่สาม) ให้เข้ามาใช้แพลตฟอร์มของตน ซึ่งจะทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มมีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางการพัฒนาบริการเหล่านี้ได้ 

เพราะว่าเจ้าของแพลตฟอร์มสามารถควบคุมการแบ่งปันข้อมูล ผ่านระบบ API (ระบบที่ใช้สื่อสารข้อมูลระหว่างคู่แอพพลิเคชั่นใดๆ) เพื่อที่อาจจะเลือกอนุญาตให้บริษัทพัฒนาแอพพลิเคชั่น หรืออีคอมเมิร์ซบางรายได้เข้าใช้หากเป็นประโยชน์กับตน หรือเลือกที่จะกีดกันการแบ่งปันข้อมูลเหล่านั้นให้กับบริษัทพัฒนาแอพพลิเคชั่นหรืออี-คอมเมิร์ซบางรายที่มีการส่งต่อข้อมูลไปให้บริษัทคู่แข่ง จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายกีดกันการแข่งขัน

อาจมีบางท่านสงสัยว่า แล้วทำไมการผูกขาดแบบนี้จึงเป็นผลเสียต่อผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มรายใหญ่อย่างเฟซบุ๊ค ในเมื่อผู้ใช้บริการต่างก็ใช้เฟซบุ๊คได้ฟรีอยู่แล้ว คำตอบก็คือว่าผู้ใช้บริการแม้จะไม่ได้จ่ายเป็นตัวเงิน แต่ก็ได้จ่ายด้วยข้อมูลข่าวสารส่วนตัวเมื่อเข้าไปใช้บริการในแต่ละครั้ง โดยที่ข้อมูลเหล่านี้มีมูลค่าราคาที่แปลงได้เป็นเงินค่าโฆษณา รวมทั้งอำนาจของเจ้าของแพลตฟอร์มรายใหญ่ที่มีเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ ด้วย ผลเสียของอำนาจผูกขาดนี้ก็คือ การกำจัดการแข่งขันจากแพลตฟอร์มหรือสตาร์ทอัพ (start-up) รายอื่นๆ จนทำให้ไม่มีความจำเป็นจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยให้บริการมีคุณภาพดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยได้ออกมาฟันธงแล้วว่า คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะรู้ผลแพ้ชนะของคดีนี้ และต่อให้ FTC สามารถชนะคดีได้ในที่สุด ก็ไม่ได้หมายความว่า FTC จะสามารถบีบให้ Facebook Inc. มีขนาดเล็กลงได้ด้วยการแยกบริษัทในเครือคือ อินสตาแกรมและวอทส์แอพ ที่ถูกซื้อมาก่อนหน้านี้ได้โดยง่าย

แต่ผลที่น่าจะตามมาจากการฟ้องร้องคดีนี้ก็คือ เรื่องที่เจ้าของแพลตฟอร์มรายใหญ่จะมีความระมัดระวังชั่งใจกันมากขึ้น ก่อนที่จะกล้าเข้าไปแทรกแซงการแข่งขันในตลาดต่อไป หลังจากนี้ ผู้เขียนอยากจะขอตั้งข้อสังเกตเพื่อให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้ถกเถียงหาคำตอบกันต่อไปว่า

ข้อที่หนึ่ง (เป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ) ในกรณีที่กล่าวมานี้ ทำไมรัฐบาลของสหรัฐจึงมีหน้าที่แค่เพียงแต่คอยกำกับดูแล เพื่อไม่ให้เกิดมีการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นสำคัญเท่านั้น ทำไมรัฐจึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงหรือช่วยส่งเสริมพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับภาคเอกชน (ด้วยข้ออ้างความจำเป็นในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ) เหมือนเช่นในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย (ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย) แม้ว่าจะใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเหมือนกันก็ตาม 

ทำไมบริษัท Facebook Inc. จึงสามารถเติบโตเป็นแพลตฟอร์มรายใหญ่ของโลกได้ ทั้งๆ ที่ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากผู้ก่อตั้งที่เป็นเพียงกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่มองเห็นโอกาสในการพัฒนาสื่อสังคมสมัยใหม่เท่านั้น โดยการทำงานแบบลองผิดลองถูกในหอพักนักศึกษาเมื่อราวปี 2547 ก่อนที่จะเติบโตเป็นบริษัทเล็กๆ ที่เน้นกลุ่มผู้ใช้บริการที่อยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เท่านั้น พวกเขาก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของบริษัท ด้วยการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดในขณะนั้น ซึ่งก็คือ MySpace จนสามารถเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษใดๆ จากภาครัฐ 

แต่ในทางกลับกัน เมื่อบริษัทได้โตขึ้นไปถึงระดับหนึ่งที่อาจจะมีอำนาจในการกีดกันการแข่งขันในตลาดแล้ว ภาครัฐจึงได้เข้ามากำกับดูแลปัญหาเรื่องการผูกขาดตามที่เป็นข่าว ตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งก็คือกรณีของบริษัทเทสลาของนายอีลอน มัสก์ (นักธุรกิจชาวแอฟริกาใต้ ที่จบปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์และฟิสิกส์ จากมหาวิทยาเพนซิลเวเนีย ด้วยเงินกู้ยืม) เป็นนักลงทุนเอกชนที่เคยล้มลุกคลุกคลานมาก่อนที่จะได้มาลงทุนสร้างต้นแบบระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเมืองอัจฉริยะในอนาคต หลายโครงการมีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจด้วย (และแข่งกับภาครัฐ) เช่น ยานยนต์ไร้คนขับ จรวดอวกาศเชิงพาณิชย์ ระบบขนส่งความเร็วสูง ระบบดาวเทียมสำหรับ Internet of Things (IoT) เป็นต้น

คำถามที่แวบขึ้นมาในใจก็คือว่า “ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะเลิกใช้วิธีทุ่มเงินงบประมาณเพื่อสร้างแรงจูงใจล่อดึงนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศ แล้วหันกลับไปเอาดีด้วยการส่งเสริมพัฒนาเยาวชนส่วนใหญ่ของเราอย่างจริงจังให้มีทักษะความคิดเรื่องการแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อนในหลากหลายมิติ ด้วยเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์แทนการปลูกฝังความเชื่อแบบเก่าเป็นหลัก” 

ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมพวกเขาให้สามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป และหวังว่าวันหนึ่งข้างหน้า พวกเขาจะสามารถสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยแท้จริง และมีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจด้วย 

เช่น พวกเขาอาจรวมตัวกันสร้างสตาร์ทอัพที่มุ่งใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ก่อนที่จะนำมาใช้วิเคราะห์เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบธนาคารได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น อันเป็นผลจากการที่นวัตกรรมดังกล่าวของพวกเขา ได้ช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดเรื่องความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลของทางฝ่ายลูกหนี้ (asymmetric information) ให้กับระบบธนาคารได้ในที่สุดนั่นเอง

ข้อที่สอง (เป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องกับปัญหาการกระจายรายได้) กล่าวคือ ผลจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต นอกจากจะสามารถถูกนำไปใช้ทดแทนการทำงานแบบง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อน (manual jobs) ของคนงานแล้ว แต่ก็ยังสามารถทดแทนการทำงานที่ต้องใช้การตัดสินใจที่ซับซ้อนของคน (non-routine jobs) ได้มากขึ้นด้วย ซึ่งก็จะทำให้มีการปลดปล่อยแรงงานออกจากระบบงานเหล่านี้กันมากขึ้น และมีความจำเป็นที่แรงงานเหล่านี้จะต้องขยับทักษะความสามารถของตนเพื่อเลื่อนขึ้นไปทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก 

ดังนั้น ในยุคของเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น การกระจายรายได้จึงอาจไปกระจุกตัวมากขึ้นในกลุ่มคนที่มีรายได้สูงและมีการศึกษาในระดับสูงด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลของประเทศเยอรมนี (ในปี 2557) ที่พบว่าสัดส่วนของชายและหญิงที่จบระดับอุดมศึกษาและอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ (bottom tenth of income earners) จะมีเพียง 11.8% และ 13.4% ตามลำดับ ในขณะที่สัดส่วนของชายและหญิงที่จบระดับอุดมศึกษาและอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้สูง (top tenth of income earners) จะมีสูงถึง 59.5% และ 51.6% ตามลำดับ เป็นต้น

เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่รัฐควรต้องเตรียมคำตอบและมาตรการรองรับกันไว้ล่วงหน้าโดยพลัน