‘ไทยแอร์เอเชีย’ หนุนเปิดประเทศ กดปุ่ม ‘รีสตาร์ท’ ท่องเที่ยวไทย!

‘ไทยแอร์เอเชีย’ หนุนเปิดประเทศ กดปุ่ม ‘รีสตาร์ท’ ท่องเที่ยวไทย!

“หากเปรียบวิกฤติโควิด-19 เหมือนประสบอุทกภัย ธุรกิจสายการบินถูกน้ำท่วมเป็นบ้านหลังแรกและลึกที่สุด แม้ทุกวันนี้ในภาพรวมน้ำลดลงแล้ว แต่สำหรับธุรกิจสายการบิน น้ำยังคงท่วมชั้นหนึ่งของบ้านอยู่เลย!”

นี่คือคำเปรียบเปรยให้เห็นภาพสถานการณ์สายการบินของ สันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ขณะกล่าวบนเวทีงาน Dinner Talk : Restart Thailand 2021 ขับเคลื่อนประเทศไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและฐานเศรษฐกิจเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

สันติสุข ฉายภาพว่า โควิด-19 แตกต่างจากวิกฤติอื่นๆ ที่ไทยแอร์เอเชียเคยเผชิญนับตั้งแต่ก่อตั้งสายการบินมากว่า 17 ปี เช่น สึนามิ การชุมนุมทางการเมือง น้ำท่วมใหญ่ การก่อเหตุวินาศกรรมที่แยกราชประสงค์ และอุบัติเหตุเรือล่มที่ จ.ภูเก็ต เพราะวิกฤติเหล่านี้ผู้ประกอบการต่างประเมินได้ว่ามันจะจบลงเมื่อไร และส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียง 3-6 เดือนเท่านั้น ภาคท่องเที่ยวไทยในฐานะ “เวิลด์คลาส เดสติเนชั่น” ก็สามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติอย่างรวดเร็ว

“แต่โควิดเป็นวิกฤติที่หนักหนาสาหัส แพร่กระจายรวดเร็วไปทั่วโลก ไม่เหมือนกับโรคระบาดอื่นๆ อย่างซาร์สหรือเมอร์ส เพราะไม่มีใครรู้ว่าโควิดมันจะจบลงเมื่อไร จะใช้เวลานานเท่าไรกว่าจะฟื้นตัวกลับมาเป็นเหมือนเดิม”

หลังจากธุรกิจสายการบินได้รับผลกระทบตั้งแต่ต้นปี 2563 เมื่อรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาเพื่อจำกัดการเดินทาง ไทยแอร์เอเชียจึงตัดสินใจหยุดให้บริการชั่วคราว 100% ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หมายความว่าเครื่องบินที่มีกว่า 60 ลำจอดสนิท!

“ทางท่านสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวบนเวทีนี้ก่อนหน้าว่าขอให้จำภาพเดือน เม.ย.2563 ไว้ให้ดีว่าเป็นอย่างไร อยากบอกว่าผมจำได้สนิทใจเลยว่าเป็นเดือนที่เครื่องบินทุกลำจอดนิ่งที่สนามบินดอนเมือง พนักงานทุกคนต้องหยุดทำงานแล้วอยู่กับบ้าน ไม่มีรายได้เข้าบริษัทสักบาทเดียว”

อย่างไรก็ตามยังคงเชื่อว่าธุรกิจการบินและท่องเที่ยวจะต้องอยู่ได้ และเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วย “รีสตาร์ท” การฟื้นฟูโลกใบนี้ ทั้งการกระจายวัคซีนระหว่างประเทศ รวมถึงการสนับสนุนเศรษฐกิจ เพราะการเดินทางคือเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยและกระจายรายได้ไปยังจุดหมายปลายทางนั้นๆ

“ในแง่มุมของสายการบินจึงขอเสนอให้มีการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา เพื่อรีสตาร์ทเศรษฐกิจประเทศไทย”

แม้ช่วงนี้จะมีการกล่าวถึงสมมติฐานต่างๆ ว่านักท่องเที่ยวจะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิม ไม่สามารถกลับไปพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละ 40 ล้านคน สร้างรายได้ 2 ล้านล้านบาทเหมือนปี 2562 ได้อีกต่อไป และในอนาคตจำนวนนักท่องเที่ยวจะน้อยลง แต่มีการใช้จ่ายสูงขึ้น ส่วนตัวมองว่าอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันไกล เพราะอย่างไรเสียภาคท่องเที่ยวไทยยังต้องการ “จำนวนนักท่องเที่ยว” เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานถูกออกแบบมารองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทั้งสนามบินที่สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภาในโครงการอีอีซี กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางทางการบินที่สำคัญที่สุดในอาเซียน จะเสียตำแหน่งนี้ไปไม่ได้ จึงขอยืนยันว่าต้อง “เปิดประเทศ” เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว

สำหรับแนวทางมี 1.Get Ready ต้องทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวอยู่รอดพ้นจากวิกฤติโควิด เพื่อรักษาการจ้างงาน 2.Promote Safety เรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ประเทศไทยทำได้ดี ยังต้องโปรโมทให้ชาวต่างชาติเห็นและวางใจกลับมาเที่ยวไทยอีกครั้ง ส่วนเรื่องความเป็น “ฮับวัคซีน” เนื่องจากประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนเองได้กลางปี 2564 เป็นต้นไป มีกำลังการผลิตราว 200 ล้านโดสต่อปี เมื่อใช้เพียงพอกับคนในประเทศ ก็สามารถกระจายวัคซีนส่วนที่เหลือไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะเห็นภาพการจัด “ทัวร์ฉีดวัคซีน” ดึงชาวต่างชาติเข้ามาฉีดวัคซีนในไทย และ 3.Build Infrastructure บริการด้านการแพทย์ในไทยต้องพร้อมในการดูแลผู้ที่ติดเชื้อและผู้ต้องการเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีน

สันติสุข กล่าวด้วยว่า ธุรกิจสายการบินได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดมาตั้งแต่ต้นปี ทั้ง 7 สายการบินจึงได้เสนอขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือ “ซอฟท์โลน” จากกระทรวงการคลัง เรื่องนี้ขอไปนานแล้วตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา จนมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปแล้ว 3 ท่าน แต่เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เรียกทั้ง 7 สายการบินไปพบเมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาแล้วรับปากว่าจะดูแลให้

“ในเมื่อยังไม่มีการปฏิเสธว่าจะไม่ให้ซอฟท์โลน สายการบินจึงยังคงรออยู่ โดยล่าสุดมีการปรับวงเงินซอฟท์โลนลดลงจากเดิมขอ 2.4 หมื่นล้านบาท เหลือ 1.4 หมื่นล้านบาทครอบคลุมเฉพาะค่าจ้างพนักงาน เพื่อรักษาการจ้างงานของธุรกิจสายการบิน”