'เลือกตั้ง อบจ. 2563' ทุกขั้นตอนก่อนหย่อนบัตร ทำแบบนี้ ผิดหรือถูก!?

'เลือกตั้ง อบจ. 2563' ทุกขั้นตอนก่อนหย่อนบัตร ทำแบบนี้ ผิดหรือถูก!?

ตอบคำถาม "เลือกตั้ง อบจ." ตรวจสอบรายชื่อโค้งสุดท้ายก่อนจะไปเลือกนายก อบจ. ดูรายชื่อผู้สมัครที่ตรงไหน ไม่มีบัตรประชาชนเลือกตั้งได้ไหม กาอย่างไรไม่ให้บัตรเสีย ครบทุกรายละเอียดที่นี่

ก่อนจะไปลงคะแนนเสียง "เลือกตั้ง อบจ." 20 ธ.ค.2563 วันเดียวพร้อมกันทั่วประเทศ 76 จังหวัด ที่จะได้เลือกทั้ง นายกอบจ. และ ส.อบจ. นั้น

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาเช็คความพร้อมกันอีกครั้ง ตอบทุกคำถาม ตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนไปเลือกตั้ง หน้าตาบัตรที่จะได้รับ ไปจนถึงวิธีการลงคะแนน เพื่อให้ถูกต้อง ไม่เป็นบัตรเสียทำอย่างไร..​ตามไปดูกัน!

  

  • เตรียมตัวก่อนไปเลือกตั้ง

1. ตรวจสอบสิทธิ  

การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าหรือนอกเขต ทุกคนจะต้องไปเลือกที่เขตที่เรามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเท่านั้น โดยเราสามารถตรวจสอบสิทธิผ่านช่องทางออนไลน์ ทำได้ง่ายๆ ดังนี้ 

160839888644

1. เข้าไปยังเว็บไซต์เพื่อตรวจสอบสิทธิ คลิกที่นี่ 

2. กรอกเลขบัตรประชาชนของเราลงไป และ กดค้นหา

เพียงเท่านี้ ก็จะรู้แล้วว่า มีรายชื่อของเราที่จะได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้ไหม และต้องไปเลือกที่ไหน เลขที่เท่าไหร่ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเปิดเอกสารหน้าคูหา

สำหรับใครที่มีรายชื่อในใจไว้อยู่แล้วก็ไม่มีปัญหา ส่วนใครยังนึกเลขไม่ออก หรือสามารถคลิกดูรายชื่อผู้สมัคร นายก อบจ. รายจังหวัด คลิกที่นี่ ส่วนใครยังรอตัดสินใจนาทีสุดท้าย ก็สามารถเปิดูรายชื่อผู้สมัครที่หน้าคูหาเลือกตั้งได้เลย

2. หลักฐานที่ต้องใช้

ก่อนออกจากบ้าน อย่าลืมหยิบบัตรประชาชนไปด้วย หรือหากไม่มีก็สามารถใช้บัตร/หลักฐานอื่นที่ออกโดยราชการได้ อาทิ 

- บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุแล้วก็ใช้ได้) 

- หลักฐานอื่นใดของทางราชการที่มีรูปถ่าย และเลขประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจําตัวเจ้าหน้าที่รัฐ ใบอนุญาตขับขี่ พาสปอร์ต เป็นต้น

  

  • เมื่อไปถึงหน้าคูหา

เมื่อไปถึงหน้าคูหา ก็มีขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้งง่ายๆ ดังนี้ 

1. ตรวจสอบรายชื่อและดูลำดับที่จากบัญชีรายชื่อของเรา

2. ยื่นหลักฐานแสดงตนต่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.)

3. ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือในบัญชีรายชื่อ

บัตรเลือกตั้ง : เราจะได้รับ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ 

- ใบที่ 1 เป็นบัตรเลือกตั้ง นายก อบจ.  : เลือกได้ 1 คน

- ใบที่ 2 เป็นบัตรเลือก ส.อบจ.  : เลือกได้ 1 คน

4. ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือบนต้นขั้วบัตร

5. เข้าคูหาทำเครื่องหมายกากบาท ลงในช่องทำเครื่องหมาย

6. เสร็จแล้วพับบัตรเลือกตั้งนำไปหย่อนในหีบบัตรเลือกตั้งนายกอบจ. และหีบบัตรเลือกตั้ง ส.อบจ. ด้วยตัวเอง

  

  • บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ 2 สี

สำหรับบัตรเลือกตั้งที่เราได้รับหลังจากลงลายมือชื่อเรียบร้อยแล้ว จะมีทั้งหมด 2 ใบ สำหรับใช้เลือก นายก อบจ. 1 ใบ และเลือก ส.อบจ. อีก 1 ใบ ซึ่งทั้ง 2 ใบจะมีสีที่แตกต่างกัน แถมในแต่ละจังหวัด ก็ไม่ได้ใช้สีเดียวกันทั่วประเทศด้วย โดยสีของบัตรจะแบ่งกันออกไปตามภูมิภาค ถ้าอยากรู้ว่า จังหวัดของเราได้บัตรสีอะไร คลิกดูได้ที่นี่ 

  • วิธีการกา ลงคะแนนเสียง

- บัตรเลือกตั้ง นายก อบจ. เลือกผู้สมัครได้ 1 คน / บัตรเลือกตั้ง ส.อบจ. เลือกผู้สมัครได้ 1 คน

- หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครผู้ใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาทในช่อง ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด

   

  • 5 เรื่องต้องห้าม ในการไปเลือกตั้ง อบจ.

ทั้งนี้ตาม "พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562" ได้กำหนด "ข้อห้าม" กระทำความผิดต่อ "บัตรเลือกตั้งท้องถิ่น" ไว้ 5 ข้อสำคัญที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องพึงระวัง ประกอบด้วย

1.ห้ามใช้บัตรอื่นที่ไม่ใช่บัตรเลือกตั้ง

-ฝ่าฝืน จำคุก 1-10 ปี ปรับ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

2.ห้ามทำเครื่องหมายอื่นที่บัตรเลือกตั้ง

-ฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ให้ศาลส่ังเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

3.ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกต้ังที่ลงคะแนนแล้ว

-ฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือท้ังจำท้ังปรับ

4.ห้ามนำบัตรเลือกตั้งใส่หีบบัตรเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจด้วยกฎหมาย

-ฝ่าฝืน จำคุก 1-10 ปี ปรับ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

5.ห้ามนำบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่น

-ฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือท้ังจำท้ังปรับ

อ้างอิงข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง