เปิด 'เมนู' พิสดารเหล่า 'อัจฉริยะ'

เปิด 'เมนู' พิสดารเหล่า 'อัจฉริยะ'

"อัจฉริยะ"ของโลก มีเมนูเด่นประจำวันที่ต่างจากคนทั่วไป ยกตัวอย่างเฮมิงเวย์จะดื่มแอลกอฮอล์เยอะมากเวลาเขียนนิยาย,บีโธเฟน ต้องดื่มกาแฟแก้วแรกโดยใช้เมล็ดกาแฟ 60 เม็ด และสตีฟ จ็อบส์ เคยกินผลไม้ล้วนๆ ทั้งปี ฯลฯ

คำกล่าวที่ได้ยินกันบ่อยในปัจจุบันก็คือ “คุณคือสิ่งที่คุณกิน (You are what you eat)” อันนี้คงไม่ได้หมายถึงกินหมูแล้วจะกลายเป็นหมู หรือกินไก่แล้วจะเป็นไก่ แต่หมายถึงต้องเลือกอาหารให้ดีและเหมาะกับการมีสุขภาพดี มีอาหารบางอย่างที่ไม่ควรกินมาก หรือแม้แต่ไม่ควรกินเลย และในทางกลับกัน ก็มีอีกหลายอย่างที่ควรทานเป็นประจำ

หากความเชื่อว่า “คุณคือสิ่งที่คุณกิน” เป็นเรื่องจริง เมื่อเราไปดูเมนูของพวกอัจฉริยะ ก็อาจจะพอเห็นความจริงอะไรบ้างในเรื่องนี้กระมัง ? ในที่นี้จะวงเล็บอายุไว้หลังชื่อนะครับ ให้เห็นว่าอัจฉริยะแต่ละท่านอายุยืนเพียงใดกัน

มีอัจฉริยะที่คอแข็งและดื่มแบบหัวราน้ำบ้างหรือไม่ ?

ศิลปิน ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) (83 ปี) ที่เป็นคนละคนกับนักปรัชญาและรัฐบุรุษที่มีชื่อซ้ำกัน ระบุว่าถ้าลองได้ไปดื่มละก้อ ต้องดื่มหนักหน่วงทุกทีไป แต่กระนั้นก็ยังตื่นแต่เช้าลุกมาวาดรูปติดต่อกันนานหลายๆ ชั่วโมงไหว

นักเขียนคนดัง “ปาป้า” เฮมิงเวย์ (62 ปี)  ก็โด่งดังเรื่องนี้ และยังติดนิสัยตื่นแต่เช้ามานั่งเขียนคล้ายๆ กับที่เบคอนลุกมาวาดรูปเช่นกัน เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) (44 ปี) นักเขียนดังอีกคนที่ดื่มหนักประจำ ก็เคยยอมรับกับบรรณาธิการของเขาว่า แอลกอฮอล์ส่งผลลบกับการเขียนนิยายของเขาอยู่เหมือนกัน (แต่ก็อดไม่ค่อยได้) เขาก็หัวใจวายในอายุที่สมัยนี้ถือว่าแค่วัยกลางคน

ดูท่าแอลกอฮอล์ไม่น่าจะอยู่ในบัญชีรายชื่ออาหารที่ควรแนะนำนะครับ

งั้นมาดูเรื่องกาแฟ เครื่องดื่มฮิตยุคนี้กัน คีตกวี บีโธเฟน (57 ปี) เริ่มวันด้วยสูตรกาแฟเฉพาะตัว เพราะเขาจะดื่มกาแฟแก้วแรกที่ใช้เมล็ดกาแฟ 60 เม็ดพอดิบพอดีเท่านั้น ส่วนบาลซัค (51 ปี) นักเขียนใหญ่ดื่มกาแฟหนักอย่างเหลือเชื่อ คือมากถึงราว 50 แก้วต่อวัน...มิน่า อายุไม่ยืนเท่าไหร่

น้ำตาลที่เชื่อกันว่าเป็นศัตรูร้ายต่อสุขภาพของคนยุคนี้ นักปรัชญาและกวีชาวเดนิส Søren Kierkegaard (42 ปี) ก็มีวิธีกินน้ำตาลอย่างดุเดือดเลือดพล่านมาก คือเขาจะถือถุงน้ำตาลเหนือถ้วย กาแฟแล้วค่อยๆ เทใส่จนกระทั่ง “น้ำตาลล้นขอบแก้ว” ขึ้นมาเป็นรูปพีระมิด ก่อนจะเทกาแฟที่ชงเข้มข้นพิเศษให้ลงไปละลายพีระมิดน้ำตาลอีกที

ไม่น่าแปลกใจที่อายุสั้น กินดุเดือดเสียขนาดนั้น !

เอ๊ะ แล้ว ช็อกโกแลตล่ะ นักเขียนเรื่องสั้นและนิยาย นาธาเนียล ฮอว์ทอร์น (Nathaniel Hawthorne) (60 ปี) จะกินขนมปังทาโกโก้เข้มข้นราว 1 ไพท์ (เกือบครึ่งลิตร) ทุกคืนในช่วงฤดูหนาว ขณะที่ผู้กำกับ เดวิด ลินช์ (David Lynch) ที่อายุ 70 ปีเข้าไปแล้วและยังมีชีวิตอยู่ เคยกินช็อกโกแลตมิลค์เชคเป็นอาหารกลางวันติดต่อกันทุกวันนานถึง 7 ปี ไม่มีเว้นสักวัน !

ที่น่าสนใจคือ ดร. แฟรนซ์ เมสเซอร์ลี (Dr. Franz Messerli) ที่ทำวิจัยเรื่องช็อกโกแลตว่า มีส่วนไปกระตุ้นการทำงานของสมองบ้างหรือไม่ เขาตั้งข้อสังเกตในงานวิจัยของเขาว่า ประเทศที่ผู้คนกินช็อกโกแลตมากๆ ไม่ว่าจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์, สวีเดน และเดนมาร์ก ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่ติดอันดับมีผู้ได้รับรางวัลโนเบลมากที่สุดทั้งสิ้น

มีอัจฉริยะที่เป็น “มังสวิรัติ” บ้างหรือไม่ ?

ก็มีนะครับ ที่โด่งดังหน่อยคงเป็น มหาตมะ คานธี (79 ปี) นิโกลา เทสลา (87 ปี) และฟรันซ์ คาฟคา (41 ปี) และแม้แต่นักวิทยาศาสตร์คนดัง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (76 ปี) ก็หันมาทานมังสวิรัติในช่วงท้ายของชีวิต นอกจากคาฟคาที่เสียชีวิตด้วยวัณโรคขณะอายุยังไม่มาก ก็น่าสังเกตว่านักทานใจบุญกลุ่มนี้อายุยืนกันดีนะครับ

น่าจะมีการทำวิจัยให้กว้างขวางว่า วิถีการกินแบบนี้มีความเกี่ยวข้องทางตรงกับอายุยืนหรือเปล่านะครับ

ขอแนะนำสูตรเปิบพิสดารอีก 2-3 สูตรนะครับ เผื่อว่าใครอยากจะไปลองดูบ้าง

สตีฟ จ็อบส์ (56 ปี) ตั้งใจอดอาหารบ่อย (เข้าใจว่าคิดว่าอดแล้วดีต่อร่างกาย) และในทางกลับกัน เขาเคย “เลือกกิน” อาหารบางอย่างหนักหน่วงมาก เช่น...ไม่ใช่แอปเปิลครับ แต่เป็น “แครอท” เขาเคยกินแครอทมากจนกระทั่งมีคนทักว่าตัวออกเป็นสีส้มแล้ว

เท่านั้นยังไม่พอ ในปี ค.ศ. 1977 เขาเคยยังชีพด้วยการกินผลไม้ล้วนๆ อยู่ทั้งปี แถมยังเคยทดลองกินอาหารอย่างเดียวติดต่อกันอยู่หลายสัปดาห์ ถือเป็นนักทดลองเรื่องอาหารตัวจริงได้คนหนึ่งทีเดียว

นักประพันธ์ชาวรัสเซีย วลาดิมีร์ โนโบคอฟ (Vladimir Nabokov) (78 ปี) เคยลองพยายามกินผีเสื้ออยู่หนหนึ่ง แต่ดูเหมือนจะไม่ติดใจสักเท่าไหร่

อ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะเกิดความรู้สึกคล้ายๆ กับผมหรือเปล่าครับว่า รสนิยมการกินอาหารของอัจฉริยะก็ไม่ได้แตกต่างมากนักจากคนทั่วไป (นี่แค่ยกตัวอย่างมาส่วนหนึ่ง) ที่อิงอยู่กับความเชื่อและความชอบอย่างใกล้ชิด และอันที่จริงแล้วอายุจะยืนหรือไม่ ก็อาจไม่ได้ขึ้นกับอาหารที่ทานอย่างเดียว พันธุกรรมของแต่ละคน และไลฟ์สไตล์ก็คงจะมีส่วนอยู่มาก

งานวิจัยจำนวนมากในยุคปัจจุบันระบุว่า กรดไขมันดีบางอย่าง เช่น โอเมก้า-3 และ โอเมก้า-6 น่าจะดีต่อสุขภาพ ซึ่งพวกมันก็มีมากในปลาและพวกถั่วนัต ส่วนพวกสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ก็พบมากในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ทั้งหลาย, พืชผัก และถั่วนัต (อีกแล้ว !) ดาร์คช็อกโกแลตก็ดีนะครับ แต่มีข้อแม้พ่วงว่าต้องทาน...แต่พอสมควร

สรุปว่าต้องเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ เช่นเดียวกับอาหารที่ถูกปาก และที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องทานในปริมาณพอเหมาะ และอย่าลืมออกกำลังกับพักผ่อนให้เพียงพอ

 ทำได้ทั้งหมดนี่แหละครับ ดีแน่ ไม่ต้องเสียเวลาไปให้สูตรเปิดพิสดารจากอัจฉริยะรายไหนเพิ่มเติมอีก