‘เพื่อไทย-ธนาธร’ โหวตเชิงยุทธศาสตร์

‘เพื่อไทย-ธนาธร’ โหวตเชิงยุทธศาสตร์

การเลือกตั้งท้องถิ่น จะพิสูจน์บารมี “ทักษิณ” เสื่อมถอยหรือยัง และชี้ชะตาอนาคต “ธนาธร” จะไปต่อได้หรือไม่?

การเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 20 ธ.ค.2563 นับว่าเป็นครั้งแรก ที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นตรงกันวันเดียวทั้งประเทศ
ปกติ การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้รับความสนใจประชาชนมากนัก ต่างจากการเลือกตั้งผู้แทนฯ ยกเว้นในปีนี้ ที่กระแสเลือกตั้งนายก อบจ. มาแรงระดับหนึ่ง

เหตุปัจจัยที่ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่น กลายเป็นกระแสการเมืองระดับชาติ มีอยู่ 2-3 เรื่อง

ประการที่ 1 คณะก้าวหน้า นำโดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล เปิดแคมเปญ “เขย่าการเมืองท้องถิ่น” และส่งผู้สมัครนายก อบจ.ทั่วประเทศ จำนวน 42 จังหวัด

คณะก้าวหน้าได้ถอดแบบการหาเสียงของพรรคอนาคตใหม่มาใช้ ราวกับเป็นผลงานของทีมงานการตลาดการเมืองทีมเดียวกัน

ผู้สมัครนายก อบจ.ของคณะก้าวหน้า ร้อยละ 90 เป็นคนรุ่นใหม่ ไม่มีประสบการณ์การเมือง แต่ก็ขายความเป็น “ธนาธร”

จากจำนวน 42 จังหวัด คณะก้าวหน้าก็คาดหวังว่า จะได้นายก อบจ.ประมาณ 10 จังหวัด เฉพาะภาคอีสาน 4 จังหวัด รวมปริมณฑลกรุงเทพฯ 5-6 จังหวัด

ประการที่ 2 พรรคเพื่อไทย ส่งผู้สมัครในนามพรรคเป็นครั้งแรกโดยคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย มีมติส่งผู้สมัครนายก อบจ. 25 จังหวัด

ในอดีต "ทักษิณ ชินวัตร" จะปล่อยให้การเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นเรื่องของ ส.ส.ในพื้นที่ แข่งขันกันเอง ใครชนะก็คนของทักษิณ

สำหรับปีนี้ พรรคเพื่อไทยรู้ดีว่า คณะก้าวหน้าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในอนาคต จึงต้องส่งผู้สมัครในนามพรรค โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคอีสาน
การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยยังได้ ส.ส.เขตมาเป็นกอบเป็นกำ จากภาคเหนือตอนบน และภาคอีสาน เพราะกินบุญเก่าสมัยไทยรักไทย และชื่อทักษิณ ชินวัตร ยังขายได้

ประเมินกันว่า 25 ผู้สมัครนายก อบจ. พรรคเพื่อไทย อาจได้รับชัยชนะ ไม่ถึงครึ่ง เพราะจะเจอผู้สมัครค่ายก้าวหน้ามาแบ่งแต้ม

ประการที่ 3 นักการเมืองระดับชาติ ต่างพรรคต่างขั้วร่วมมือกันส่งผู้สมัครนายก อบจ. ในนาม “กลุ่มผลประโยชน์” ไม่เกี่ยวกับพรรค

มีข้อน่าสังเกตว่า เลือกตั้งท้องถิ่นปีนี้ มีลักษณะ “ฮั้ว” กันส่งผู้สมัครนายก อบจ.หลายสิบจังหวัด

ประการที่ 4 กระแสม็อบราษฎร มีผลต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่น้อย เนื่องจากสื่อใหม่ได้ทะลุทะลวงเข้าถึงทุกหมู่บ้าน ทุกหลังคาเรือน การรับรู้ข่าวสารเท่ากันหมด

ดูเหมือนว่า กระแสม็อบ 3 นิ้ว จะเป็นคุณแก่ผู้สมัครคณะก้าวหน้า และยกระดับการเมืองท้องถิ่นให้เป็นการเมืองระดับชาติ

ฉะนั้น โค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกนายก อบจ. จึงมีการรณรงค์ “โหวตเชิงยุทธศาสตร์” ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องเลือกโหวตให้ขาด พรรคใดพรรคหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่มีแทงกั๊ก

โหวตแบบนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยจะเสียเปรียบ แถมยังตัดแต้มกันเอง ปล่อยให้ “พันธมิตร อบจ.” ต่างพรรค คว้าชัยไปได้ในที่สุด

เหนืออื่นใด การเลือกตั้งท้องถิ่น จะพิสูจน์บารมี “ทักษิณ” เสื่อมถอยหรือยัง และชี้ชะตาอนาคต “ธนาธร” จะไปต่อได้หรือไม่?