'อีอีซี' คาดปี64 เงินลงทุนในพื้นที่พุ่งแตะ 4 แสนล้าน

'อีอีซี' คาดปี64 เงินลงทุนในพื้นที่พุ่งแตะ 4 แสนล้าน

"บอร์ดอีอีซี" รับทราบข้อมูลขอส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีปี 63 ยอดขอส่งเสริมการลงทุน 1.28 แสนล้าน ลดลงจากปีก่อนตามผลกระทบจากโควิด-19 "คณิศ" มั่นใจปีหน้าการลงทุนในอีอีซีฟื้นแตะ 4 แสนล้าน จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1 แสนล้าน และการลงทุนของเอกชน 3 แสนล้าน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม  เป็นประธานวันนี้ (18 ธ.ค.) ว่าที่ประชุมรับทราบมูลค่าการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในช่วง 11 เดือนของปีนี้ (ม.ค.- พ.ย. 2563)  มีจำนวนทั้งสิ้น 387 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวม 1.28 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันในปี 2562 ที่มีโครงการขอส่งเสริมการลงทุนรวม 415 โครงการ มูลค่าการส่งเสริมการลงทุน 1.99 แสนล้านบาท 

ทั้งนี้การขอส่งเสริมการลงทุนในปี 2563 วงเงินรวม 1.28 แสนล้านบาทในพื้นที่อีอีซี ถือเป็นการขอส่งเสริมการลงทุนประมาณ 50% ของยอดการขอส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ  และเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ถึงประมาณ 7.6 หมื่นล้านบาท

160827363575
 

สำหรับคำขอส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และปิโตรเคมี โดยนักลงทุนที่สนใจจะลงทุน ขณะนี้ บีโอไอ ได้ประสานกระทรวงต่างประเทศ ทดลองผ่อนผันการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศ เพื่อความสะดวกและเป็นแรงจูงใจ ให้กับนักลงทุนในการเข้ามาลงทุนในอีอีซีมากขึ้น 

160827366936

นายคณิศกล่าวว่าในปี 2564 การลงทุนในอีอีซีจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งปีทำให้การลงทุนจริงและการขอส่งเสริมการลงทุนชะลอออกไป โดยในปี 2564 คาดว่าจะมีการลงทุนประมาณ 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการลงทุนในเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม 5G ในพื้นที่อีอีซีประมาณ 1 แสนล้านบาท และการลงทุนของภาคเอกชนที่มีการขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยหลายโครงการที่มีการชะลอการลงทุนในปี 2563 จะเลื่อนการลงทุนไปในปีหน้าหลังจากที่มีวัคซีนโควิด 19 แล้ว 

นอกจากนี้ที่ประชุมฯยังรับทราบความก้าวหน้าแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี โดยใช้ความต้องการตลาดนำ (Demand Pull) เน้นเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร พัฒนาสินค้าให้
ตรงความต้องการ ใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ (Technology Push) ให้สินค้าเกษตร มีคุณภาพดี ราคาสูง ให้ความสำคัญ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ ผลไม้ ประมงเพาะเลี้ยง พืชชีวภาพ พืชสมุนไพร ปศุสัตว์

เพื่อยกระดับการผลิตตรงความต้องการ เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้แผนฯ เป็นกรอบในการขอรับงบประมาณปี 2565 เป้าหมายหลัก และเป็นแผนต่อเนื่องจนถึงปี 2570 ต้องการยกระดับภาคเกษตร ใช้เทคโนโลยีนำการผลิต สินค้าตรงตามความต้องการของตลาด เพิ่มรายได้ภาคเกษตร ใกล้เคียงภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งเร่งรัดการลงทุนในโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกที่จะส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าการผลิตสินค้าเกษตรในอีอีซีให้มากขึ้นภายใต้การสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)