‘เอาท์ซิสเต็มส์’ ถอดรหัสลงทุนไอที ‘นวัตกรรมดิจิทัล’ กุญแจเพิ่มความสำเร็จ

‘เอาท์ซิสเต็มส์’ ถอดรหัสลงทุนไอที  ‘นวัตกรรมดิจิทัล’ กุญแจเพิ่มความสำเร็จ

นวัตกรรมดิจิทัลคือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจก้าวทันกระแสความเปลี่ยนแปลง

สภาพแวดล้อมทางธุรกิจทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม...

เอกรัฐ งานดี ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเวียดนาม เอาท์ซิสเต็มส์ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโมเดิร์นแอพพลิเคชั่น เปิดมุมมองว่า องค์กรต้องแสวงหาวิธีการที่จะใช้ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความคล่องตัว และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างลงตัว

“สภาพตลาดที่เปลี่ยนไปทำให้ต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ ประเมินรูปแบบทางธุรกิจ และรูปแบบการทำงานเสียใหม่ องค์กรหลายแห่งจึงหันมาลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ขณะเดียวกันนำโซลูชั่นอัจฉริยะต่างๆ มาใช้เพิ่มความคล่องตัวในระยะยาว

อย่างไรก็ดี นวัตกรรมดิจิทัล คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรธุรกิจก้าวทันกระแสความเปลี่ยนแปลงและก้าวล้ำนำหน้าเหนือคู่แข่ง ด้วยเหตุนี้นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นขององค์กรจึงต้องทุ่มเททำงานอย่างสุดกำลังด้วยทรัพยากรและเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด 

นอกจากนี้ โจทย์สำคัญคือการตอบสนองความต้องการในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล ทำงานให้สำเร็จลุล่วงให้ได้อย่างรวดเร็วภายในกรอบเวลาที่สั้นกว่าเดิม โดยยังรักษาคุณภาพและต้องควบคุมค่าใช้จ่ายโดยรวมไม่ให้สูงเกินงบที่ตั้งไว้ ซึ่งทั้งหมดนี้นับเป็นเรื่องที่ยุ่งยากอย่างมาก

เผชิญปัญหารอบด้าน 

ไอดีซีระบุว่า ภายในปี 2567 บริษัทในกลุ่ม G2000 จะเป็นผู้ผลิตนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูง สิ่งนี้ได้รับแรงหนุนจากความเป็นจริงใหม่ๆ ของตลาด ความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงความท้าทายจากดิจิทัล ดิสรัปชั่น ซึ่งไม่ได้มีความหมายแค่การเร่งวงจรการพัฒนาซอฟต์แวร์เท่านั้น “แต่ซอฟต์แวร์ยังจำเป็นต้องนำเสนอคุณค่าทางธุรกิจที่ยั่งยืนได้ด้วย”

ข้อมุลระบุว่า องค์กรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงติดขัดในการนำกระบวนการและแนวทางการทำงานของ “DevOps” ที่มีความคล่องตัวจากการทำงานร่วมกันของนักพัฒนาซอฟต์แวร์และฝ่ายปฏิบัติงานมาใช้ในวงจรการพัฒนาซอฟต์แวร์ เห็นได้จาก 58% ที่ระบุว่าความปลอดภัยและการบูรณาการการพัฒนาซอฟต์แวร์เข้าด้วยกันเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุด

ปัจจุบัน องค์กรต่างๆ ต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวอย่างฉับไวตามสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป ว่าจ้างและฝึกอบรมทักษะพนักงาน ด้านลูกค้ามีความต้องการมากขึ้น เฉพาะเจาะจงมากขึ้น พร้อมต้องปรับปรุงระบบไอทีให้ทันสมัยเพื่อรักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน

อย่างไรก็ดี สำหรับบริษัทส่วนใหญ่แล้ว ระบบรุ่นเก่าที่มีความสำคัญต่อการดำเนินงานจะยังคงถูกใช้งานต่อไป ทว่าต้องสร้างแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่ทำงานหรือรันอยู่บนระบบรุ่นเก่าที่ว่านี้ 

ฉีกกฏเกณฑ์แบบเดิมๆ

เขากล่าวว่า องค์กรจึงจำเป็นต้องใช้แพลตฟอร์ม “visual development” และ “model-based” เพื่อให้สามารถอยู่รอดและประสบความสำเร็จท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบัน โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้ช่วยให้องค์กรสามารถออกแบบและพัฒนาแอพพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มความสามารถในการปรับขนาดความสม่ำเสมอความปลอดภัย และที่สำคัญที่สุดคือความคล่องตัวด้วยความเร็วที่ไม่เคยมีมาก่อน

องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องใช้แพลตฟอร์มที่เพิ่มความรวดเร็วให้กับทุกขั้นตอนของกระบวนการ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ พัฒนา วิเคราะห์สถาปัตยกรรม ทดสอบ ติดตั้งใช้งาน ไปจนถึงขั้นตอนการตรวจสอบติดตามผล 

แม้กระทั่งหลังจากนั้นก็ยังจำเป็นต้องปรับแต่งแพลตฟอร์ม เพื่อที่ว่าหลังจากที่ติดตั้งแอพพลิเคชั่นแล้ว ก็จะสามารถทำการปรับเปลี่ยนได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ไม่ว่าการปรับเปลี่ยนที่ว่านี้จะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ กฎระเบียบของภาครัฐ สภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป หรือวิกฤติการณ์อย่างเช่นกรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ปี 2563 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่องค์กรต่างๆ รวมถึงผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยีควรตรวจสอบและทบทวนสถานะของการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ทุกองค์กรต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นโรงงานผลิตนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อให้แข่งขันได้ มีโจทย์ที่ต้องการปรับปรุงระบบรุ่นเก่าให้ทันสมัย เพิ่มความคล่องตัวให้กับกระบวนการต่างๆ หรือตอบสนองต่อสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไปด้วยการนำเสนอบริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาดให้รวดเร็วกว่าเดิม