กทพ.สร้างทางด่วนเชื่อมท่าเรือ หนุนขนส่งสินค้าเพิ่ม

กทพ.สร้างทางด่วนเชื่อมท่าเรือ หนุนขนส่งสินค้าเพิ่ม

กทพ.เตรียมร่วมทุนการท่าเรือฯ อัดงบ 2.48 พันล้านบาท สร้างทางด่วนเชื่อมท่าเรือกรุงเทพ คาดเสนอเข้า ครม.ปลายปีหน้า มั่นใจเปิดให้บริการปีแรก 2568 ปริมาณรถยนต์ และรถบรรทุกเข้าระบบ 1.4 หมื่นคันต่อวัน

นางสาวกชพรรณ เข็มทอง ผู้อำนวยการกองวางแผนและวิเคราะห์โครงการ ฝ่ายนโยบายและแผนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 โครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา - อาจณรงค์ (S1) โดยระบุว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ถือเป็นการสรุปผลการศึกษา หลังจากนี้คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กลางปี 2564 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปลายปี 2564

“ที่ปรึกษาโครงการจะส่งผลการศึกษามาให้ภายในเดือน ธ.ค.นี้ และจะเร่งเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยระหว่างนี้เราจะทำงานควบคู่ เตรียมจ้างที่ปรึกษาออกแบบดีเทลดีไซน์ คาดว่าภาพรวมโครงการเราจะใช้เวลารออีไอเอและดีเทลดีไซน์ประมาณ 1 – 2 ปี”

อย่างไรก็ดี ภายใต้รายงานการศึกษาประชุมรับฟังความคิดเห็นที่ กทพ.จะได้รับรายงานในเดือน ธ.ค.นี้ จะรวมการศึกษารูปแบบการลงทุน ซึ่ง กทพ.จะต้องร่วมทุนกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) โดยทีมที่ปรึกษาจะมีการนำเสนอรายละเอียดว่ารูปแบบการลงทุนในลักษณะใด ใครจะต้องลงทุนในสัดส่วนเท่าไหร่ หรืออาจจะเป็นในรูปแบบ กทท.ลงทุนและจ้าง กทพ.จัดเก็บค่าผ่านทางก็เป็นไปได้ เพราะปัจจุบัน กทท.เป็นผู้ลงทุนศึกษาโครงการอยู่แล้ว

ทั้งนี้ โครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา - อาจณรงค์ (S1) ประเมินวงเงินลงทุนอยู่ที่ 2.48 พันล้านบาท โดยโครงการจะเชื่อมต่อมาจากเทอร์มินัล 3 ของท่าเรือกรุงเทพ ข้ามคลองพระโขนง และถนนเลียบทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ จากนั้นแยกเป็นขาทางเชื่อม หรือ Ramp เข้าเชื่อมกับทางพิเศษสายบางนา - อาจณรงค์ (S1) ทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษฉลองรัช มีระยะทาง 2.25 กิโลเมตร (กม.)

นางสาวกชพรรณ ยังกล่าวด้วยว่า ผลการวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ พบว่าอัตราตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 22% ซึ่งถือเป็นโครงการที่จะช่วยลดปัญหาการจราจรแออัดบนทางพิเศษ และบริเวณหน้าทางเข้าท่าเรือกรุงเทพ โดยเบื้องต้น กทพ.ประเมินว่าในแรกของการเปิดให้บริการ ราวปี 2568 จะมีปริมาณรถยนต์ใช้งานทางด่วนสายนี้ 14,400 คันต่อวัน โดยเป็นรถใหม่ที่ยังไม่เคยเข้าระบบทางด่วน กว่า 6 พันคันต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่คาดว่าจะเป็นรถบรรทุกขนส่งสินค้า