ยอดคอนโดใหม่ 9เดือนแรกหายวูบ แห่ดัมพ์ราคาระบายสต็อก

ยอดคอนโดใหม่ 9เดือนแรกหายวูบ แห่ดัมพ์ราคาระบายสต็อก

ซีบีอาร์อี เผยตัวเลขคอนโดใหม่ 9เดือนแรกหาย 56.6% ดีเวลลอปเปอร์พร้อมใจแห่กันลดราคา20% - 25% หวังระบายสต็อก ระบุโควิดกระทบลูกต่างชาติทิ้งโอน

นายรัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย   ระบุว่า ปริมาณคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวใหม่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงเหลือ 18,630 ยูนิต คิดเป็นลดลง 56.6% จากปีที่แล้ว เนื่องจากผู้พัฒนาโครงการได้มีการปรับกลยุทธ์ใหม่และมุ่งเน้นไปที่การสร้างรายได้แบบรวดเร็วเพื่อจัดการกับกระแสเงินสด ด้วยการลดราคาและการทำการส่งเสริมการขายสำหรับยูนิตเหลือขายที่พร้อมโอนกรรมสิทธิ์กันมากขึ้น โดยบางโครงการมีการลดราคากันถึง 20% - 25%     

อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยง จากการผิดนัดโอนกรรมสิทธิ์จากลูกค้าชาวต่างชาติที่ซื้อตั้งแต่ช่วงก่อนช่วงโควิด-19  เนื่องจากยังมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ  ทำให้ดีเวลลอปปเอร์ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการโอนยูนิตให้กับผู้ซื้อชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนที่ไม่สามารถเดินทางมาโอนกรรมสิทธิ์ได้  จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้ซื้อชาวต่างชาติบางรายที่อาจไม่สามารถโอนยูนิตของตนเองและทำให้ยูนิตที่ถูก "ขาย" ออกไปก่อนหน้านี้กลับเข้ามาในตลาดอีกครั้ง 

แมักระนั้น ก็ยังมีกลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติที่สนใจเข้ามาซื้ออสังหาฯในประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยมีมาตรการรับมือโควิด-19 ได้ดีจนเป็นที่ยอมรับระดับโลก ดังนั้นหากมีการยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ เชื่อว่าจะช่วยในแง่ของยอดขายในตลาดที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นรวมถึงเศรษฐกิจของประเทศเช่นกัน

นอกจากนี้สถานการณ์โควิด-19  ส่งผลให้พฤติกรรมและมุมมองในเรื่องที่พักอยู่อาศัยของผู้ซื้อเปลี่ยนแปลงไป    โดยปัจจุบันพนักงานในบริษัทหลายแห่งสามารถเลือกทำงานจากที่บ้านได้ และด้วยข้อจำกัดในการเดินทางซึ่งรวมถึงการเดินทางไปต่างประเทศ จึงทำให้ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทยใช้เวลาในช่วงวันหยุดในแหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศ  ทำให้ความต้องการบ้านหลังที่สองในเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญอย่างภูเก็ต หัวหิน และพัทยา   กระเตื้องขึ้น ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสในการดึงดูดกลุ่มลูกค้าระดับบน เข้ามาซื้อโครงการ       

ด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แผนกวิจัย ซีบีอาร์อีพบว่าในไตรมาส 3 ปี 2563 สินเชื่อใหม่เพื่อที่อยู่อาศัยกลับมามีปริมาณเพิ่มขึ้น 12.7% จากไตรมาสก่อนหน้าและเพิ่มขึ้น 3.1% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าสินเชื่อดังกล่าวอาจจะมาจากความต้องการสะสมก่อนที่จะคลายมาตรการล็อคดาวน์ แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่ายังคงมีความต้องการอยู่ในตลาด  คาดว่าตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2564 จะค่อยๆ ฟื้นตัวแต่จะยังไม่กลับไปสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19   เพราะต้องอาศัยระยะเวลาและขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ