‘เยาวชนปลดแอก’ แตกแถว คว้าค้อนเคียว มุ่งเลี้ยวซ้าย

‘เยาวชนปลดแอก’ แตกแถว    คว้าค้อนเคียว มุ่งเลี้ยวซ้าย

"กลุ่มราษฎร" ที่ประกอบขึ้นด้วยแกนนำกลุ่มต่างๆ กำลังเผชิญสถานการณ์ที่อาจกระทบต่อขบวนการเคลื่อนไหวต่อไป เมื่อมุมมองความคิดเห็น แตกกันไปกันคนละทิศละทาง

นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ให้ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และเท่าเทียม ด้วยการชูธง 3 ข้อคือ 1.พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี 2.ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ2560 ให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3.ปฏิรูปสถาบัน

การออกมาชุมนุมเรียกร้องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ถือว่าเข้มข้นในเชิงเนื้อหา และมุมมองการแสดงออกที่เรียกว่าทะลุเพดานแต่แล้วเมื่อมาถึงจุดหนึ่ง ทางกลุ่มเยาวชนปลดแอกหรือ “Free Youth” กลับจุดพลุเรื่องสาธารณรัฐหรือคอมมิวนิสต์ขึ้นมา พร้อมกับใช้สัญลักษณ์ค้อนเคียว กระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของชนชั้นแรงงาน

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อเสนอดังกล่าวของเยาวชนปลดแอกสร้างความสับสนในจุดยืนต่อแนวร่วมเป็นอย่างมาก เนื่องจากย้อนแย้งกับแนวทางกลุ่มราษฎรอย่างชัดเจนที่ตั้งเป้าเรื่องประชาธิปไตย

ส่งผลให้พริษฐ์ ชิวารักษ์หรือเพนกวินและปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลหรือรุ้งออกมาประกาศชี้แจงทำความเข้าใจกับแนวร่วมว่า ตัวเองไม่ได้อยู่กลุ่มเยาวชนปลดแอกแต่อยู่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่แรกเริ่มเดิมทีเป็นหน่วยกล้าตาย ลุกขึ้นประกาศ 10 ข้อเสนออันสะเทือนเลือนลั่น

โดยเพนกวินได้ย้ำว่า ข้อเสนอของเยาวชนปลดแอกไม่ใช่มติของกลุ่มราษฎรและยังยึดมั่นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปในช่วงก่อนที่จะมีการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ เป็นคณะราษฎรทางเยาวชนปลดแอกและแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมต่างมีแนวทางการขับเคลื่อนเป็นของตัวเอง มีช่องทางการสื่อสารอันทรงพลังผ่านโซเชียลมีเดีย เคลื่อนไหวเรียกร้องจนรัฐบาลตอบสนองในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ในช่วงนั้นเอง ก็มีเสียงซุบซิบมาตลอดว่า แกนนำของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯและเยาวชนปลดแอกมีความเห็นในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ไม่ค่อยลงรอยกัน มาอย่างต่อเนื่อง มีการพูดกันถึงขั้นว่า บางคนพยายามบล็อกอีกคนไม่ให้มีบทบาท

ทว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อภาพใหญ่ในการเคลื่อนไหว เมื่อสถานการณ์ถึงจุดที่ต้องจับมือร่วมกันสู้ พวกเขาก็สามารถจูนกันได้สำเร็จ เห็นได้จากการมีกลุ่มราษฎรการแจ้งกำหนดนัดหมายชุมนุมแต่ละครั้ง ผ่านช่องทางการสื่อสารในโลกออนไลน์ของทั้งเยาวชนปลดแอกและแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯมีทิศทางสอดคล้องต้องกัน

จนเมื่อการชุมนุมผ่านมาระยะหนึ่ง ภาพที่ปรากฎ ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยต่างจับสังเกตและลงความเห็นว่าม็อบกำลังแผ่วบ้าง กำลังฝ่อบ้าง หรือพยายามขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องเพราะหาทางลงไม่ได้บ้าง แต่ทางแกนนำและผู้ชุมนุมก็ยืนกรานว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น

กลุ่มราษฎรพยายามหาแนวทางการเคลื่อนไหวใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อดึงแนวร่วมให้ออกมาบนท้องถนนเท่าที่จะมากได้เหมือนในตอนชุมนุมแรกๆ


กระทั่งถึงจุดหนึ่ง
เยาวชนปลดแอกเลือกคว้าค้อนเคียว เปิดตำราฝ่ายซ้ายขึ้นต่อสู้ พร้อมกับค่อยๆ เบนเข็มออกห่างจากการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย


หรือนี่จะเป็นกลยุทธ์ที่ไร้กลยุทธ์ของ
กลุ่มราษฎรที่เริ่มเจอข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว จนต้องหาประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อจะได้มีหนทางไปต่อ


หรือ
เยาวชนปลดแอกอาจกำลังแตกแถวจากกลุ่มราษฎรมุ่งไปในแนวทางของตัวเอง


ท่ามกลางความสงสัยว่า
ม็อบจะเอาอะไรกันแน่ ระหว่างประชาธิปไตยหรือ คอมมิวนิสต์และสถานการณ์เช่นนี้ อาจจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวในจังหวะถัดไปไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอารมณ์ร่วมของมวลชน