'สมานฉันท์' ผิดจังหวะ แค่เริ่มก็ล่มไม่เป็นท่า

'สมานฉันท์' ผิดจังหวะ แค่เริ่มก็ล่มไม่เป็นท่า

แม้ “รัฐบาล” จะมองว่า สถานการณ์ม็อบ-การชุมนุมทางการเมือง ตอนนี้ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ และมองว่า "การปรองดอง" นั้นไม่จำเป็น แต่เมื่อ "กรรมการสมานฉันท์" ถูกริเริ่มไปแล้ว ต้องเดินหน้าต่อ แม้ผล..ไม่เป็นอย่างที่หวัง

       ยังคงใช้ทุกวิธีทาง เพื่อจะดึง “พรรคฝ่ายค้าน” เข้าร่วมกรรมการสมานฉันท์ให้ได้ 

       ล่าสุด “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ฐานะประธานรัฐสภา ผู้อาสาทำเรื่องกรรมการสมานฉันท์ จับเข่าขอ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้ไปคุยกับ “พลพรรคร่วมฝ่ายค้าน” ​อีกรอบ

       ต่อการร่วมวงสมานฉันท์ หลังจากที่ก่อนหน้านั้น มติของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงปฏิเสธที่จะร่วมวง เพราะไม่เห็นประโยชน์ อีกทั้ง สัดส่วนกรรมการไม่เอื้อต่อการปรองดองแท้จริง

       เสียงออดอ้อนของ “ชวน” ที่บอกกับ “สมพงษ์” คือ “กรรมการสมานฉันท์ ไม่ใช่การสรุปว่าใครแพ้ ใครชนะ แต่คือการระดมสมอง หาแนวทางเพื่อนำไปสู่การสมานฉันท์”

       ทำให้ “สมพงษ์” รับอย่างเสียไม่ได้ว่า “22 ธันวาคมนี้ จะนำความไปหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกครั้ง” เพียงแต่ไม่ได้รับปากว่า จะทำให้ กลับมติพรรคร่วมฝ่ายค้านก่อนหน้านั้นได้หรือไม่

       หากพิจารณาจากจุดยืนของพรรคร่วมฝ่ายค้าน สิ่งที่ฝ่ายค้านมองว่าการสมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้ คือ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องพ้นจากผู้นำประเทศ

       ดังนั้น คำตอบที่ได้ ไม่ว่าจะวันนี้ หรือ วันที่ 22 ธันวาคม คือ “ไม่ร่วม” แน่นอน

   เหตุผลไม่มีอะไรมาก เพราะฝ่ายค้านไม่อยากถูกขึ้นชื่อว่า "พวกไร้จุดยืน" จากเดิมที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน เคยมีมติไปแล้วว่าจะไม่เข้าร่วมกรรมการปรองดอง ไม่เพียงเท่านี้ หากกลับลำขึ้นมาจะทำให้เสียมวลชนนอกสภาไปอีก ไม่ต่างอะไรกับการได้ไม่คุ้มเสีย 

       อย่างไรก็ดี ความพยายามหาทางออกสำหรับปัญหาการชุมนุมทางการเมือง ภายใต้ “กรรมการสมานฉันท์” ถูกริเริ่มไปแล้ว ต้องเดินหน้าต่อแม้ “รัฐบาล” จะมองว่า สถานการณ์ม็อบ-การชุมนุมทางการเมือง ตอนนี้ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่

       ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้การส่งตัวแทนจากฝั่งรัฐบาล จึงมีชื่อ “สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” และ “ธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ”  

       ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชื่อที่ออกมาเป็นการสะท้อนว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจ

       ถึงเลือกส่งคนไร้ซึ่งภาพลักษณ์ความปรองดอง ไร้ประสบการณ์ และไม่เคยได้รับความศรัทธาจากสังคม เข้าร่วม

       ทั้งที่ รัฐบาลสามารถดึงผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมงานได้เพื่อให้สังคมยอมรับ เหมือนกับที่เคยเชิญ 'วิชา มหาคุณ' อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาสางคดีบอส อยู่วิทยา จนได้รับการยอมรับจากสังคม  

       อย่างไรก็ดีขณะนี้มีความพยายาม กดดันไปยังรัฐบาล เพื่อให้เลือกบุคคลในโควต้า ที่เป็นที่ยอมรับจากสังคม

       อย่างน้อยเพื่อไม่ให้ “ชวน หลีกภัย”​ ต้องเสียรังวัด โดยเฉพาะการล็อบบี้ของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์เพื่อให้เกลี่ยโควต้ากันใหม่

       เพื่อให้ 'เทอดพงษ์ ไชยนันท์' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กลับมามีชื่ออยู่ในคณะกรรมการปรองดองในสัดส่วนของรัฐบาลอีกครั้ง โดยขอให้พรรคพลังประชารัฐไปตัดชื่อออกหนึ่งคน

       ภาพรวมของการสร้างความปรองดอง แค่เพียงขั้นตอนการเสนอรายชื่อของแต่ละส่วนก็เต็มไปด้วยการชิงไหวชิงพริบ แทบไม่ต้องอธิบายเลยการสร้างความปรองดองในอนาคตจะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เพราะทุกอย่างดูผิดจังหวะไปเสียทั้งหมด.