กทม.จี้รัฐบาลต่อสัญญาสายสีเขียว เจรจา BTS ไม่ฟ้องหนี้ค่าเดินรถ

กทม.จี้รัฐบาลต่อสัญญาสายสีเขียว เจรจา BTS ไม่ฟ้องหนี้ค่าเดินรถ

นายกฯ ย้ำต่อสัมปทาน “บีทีเอส” ต้องเป็นไปตามกติกา กทม.ชี้ตอบทุกคำถามหมดแล้ว นัดถก 18 ธ.ค.นี้ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ค่าโดยสาร 65 บาท ชี้ไม่ผลักภาระให้ประชาชน เผยเจรจา “บีทีเอส” ไม่ให้ฟ้องค่าเดินรถส่วนต่อขยาย 8.5 พันล้าน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต) และโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง ระยะที่ 1 (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สถานีคลองสาน) วันที่ 16 ธ.ค.2563 เพื่อเชื่อมโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มมากขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวเริ่มก่อสร้างมาตั้งปี 2542 เสร็จในปี 2562 รวมแล้วเปิดมาร่วม 20 ปี รัฐบาลจึงหวังว่าประชาชนจะมีความสุขกับการใช้รถไฟฟ้าสายนี้ เพื่อใช้เดินทางเชื่อมต่อถึง 3 จังหวัด

ส่วนกรณีการเจรจาสัมปทานบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ รถไฟฟ้า BTS และอัตราค่าโดยสารที่มีข้อเสนอของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำหนด 65 บาทตลอดสาย เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา ทุกอย่างสร้างมาถูกต้อง ดังนั้นต้องอยู่ที่การเจรจาว่าจะลดได้เท่าไหร่ ขออย่าให้เอาเรื่องนั้นมาตี เพราะขณะนี้ประชาชนรอเปิดใช้รถไฟฟ้า เมื่อสร้างมาแล้วจะทุบทิ้งได้หรือไม่ ไม่เปิดได้หรือไม่ ก็ต้องเปิดให้บริการเพื่อให้ประชาชนได้ใช้งาน ส่วนเรื่องที่เจรจากันก็ต้องทำ โดยต้องร่วมมือกันให้ทุกอย่างเป็นไปตามกติกา

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในวันที่ 18 ธ.ค.2563 กรุงเทพมหานครจะหารือร่วมกับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) สำนักการจราจรและขนส่ง และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อหาข้อสรุปรายละเอียดการเก็บค่าโดยสารตามระยะทางว่าจะเก็บในอัตราเท่าใดบ้าง ซึ่งเบื้องต้นยืนยันว่าจะเก็บในอัตราสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ต่ำกว่าราคาผลการศึกษาที่กำหนด 158 บาท เพื่อไม่สร้างภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

“เรายืนยันที่จะเก็บสูงสุดไม่เกิน 65 บาทตามที่เคยหารือกับบีทีเอสไว้ จะไม่ยอมให้เก็บถึง 158 บาท ซึ่งยอมรับว่าขาดทุนแน่ แต่ กทม. จะรับผิดชอบเอง เพราะไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ในช่วงแรกของการเปิดให้บริการนี้ จะเปิดให้ประชาชนนั่งฟรีถึงวันที่ 15 ม.ค.2564”พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

ขณะที่กรณีการต่ออายุสัมปทานให้แก่บีทีเอสอีก 30 ปี จากปี 2572-2602 ประเด็นนี้คงต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะพิจารณาอย่างไร โดยเวลานี้ทางกรุงเทพมหานครได้ตอบทุกคำถามของ ครม.ไปหมดแล้ว แต่ไม่ได้มีหน้าที่ตอบคำถามกระทรวงคมนาคม เพราะไม่ได้เกี่ยวกับกระทรวงคมนาคม 

“ยืนยันว่าที่ผ่านมาผมไม่เคยไปยุ่งเรื่องของคนอื่น อยากให้กวาดบ้านของตัวเองให้เสร็จก่อน แล้วค่อยมายุ่งกับบ้านคนอื่น” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

สำหรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากคูคต - เคหะสมุทรปราการ รวม 59 สถานี ระยะทางกว่า 68 กิโลเมตร (กม.) คิดตามระยะทางสูงสุดไม่เกิน 65 บาท หากคำนวณโดยหารเฉลี่ยเป็น กม. ค่าโดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 0.97 บาท ต่อ กิโลเมตร แม้จะเป็นราคาที่แพงกว่าลอนดอน และปารีส แต่ในไทยถือว่าเป็นราคาที่ถูกที่สุด

หนี้ค่าจ้างเดินรถ8.5พันล้าน

ทั้งนี้ หาก ครม. ไม่อนุมัติการต่ออายุสัมปทานให้บีทีเอสตามที่กรุงเทพมหานครเจรจาไว้ ก็คงต้องไปเจรจากับกระทรวงการคลังในเรื่องของภาะหนี้สินจากการโอนกรรมสิทธิ์ และมีค่าก่อสร้างงานโยธาที่ต้องรับผิดชอบแทนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวมหนี้สินและดอกเบี้ยกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานครไม่มีเงินจ่าย และในจำนวนนี้ยังไม่รวมกับค่าจ้างที่ให้บีทีเอสเดินรถในส่วนต่อขยายสายสีเขียว โดยหากรวมถึงเดือน ม.ค.2564 จะอยู่ที่ประมาณ 8,500 ล้านบาท และจะปรับเพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 200 ล้านบาท

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ค่าจ้างเดินรถที่กรุงเทพมหานครต้องจ่ายให้บีทีเอส เกิดจากการจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ มาตั้งแต่ปี 2554 และมาเพิ่มการเดินรถในช่วงสายสีเขียวเหนือจากสถานีห้าแยกลาดพร้าว โดยขณะนี้บีทีเอส ทำหนังสือทวงถามค่าจ้างจากกรุงเทพมหานครมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ทำหนังสือขอเงินจากรัฐบาลไปแล้ว และกำลังเจรจากับบีทีเอสเพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้อง เพราะหากฟ้องร้องไปกรุงเทพมหานครก็ยังไม่มีเงินไปจ่าย

อย่างไรก็ดี เวลานี้ยอมรับว่าไม่ทราบว่า ครม.จะพิจารณาเรื่องต่ออายุสัมปทานอีกเมื่อไหร่ แต่ได้หารือกับบีทีเอสเบื้องต้นว่าหากต่ออายุสัมปทาน ทางบีทีเอสต้องรับภาระหนี้ของกรุงเทพมหานครประมาณ 1 แสนล้านบาท รวมถึงต้องทยอยจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับกรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2572 ถึงปี 2602 ตลอดอายุสัมปทานรวมประมาณ 2.4 แสนล้านบาท และอยากให้ตรึงราคาเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาทไปจนถึงปี 2585 ซึ่งเป็นปีที่หมดสัญญาการจ้างเดินรถ

ไม่มีงบต่อขยายสายสีเขียวเพิ่ม

ด้านแผนลงทุนโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เคยมีการศึกษาก่อสร้างสายสีเขียวใต้ จากสถานีเคหะสมุทรปราการถึงสถานีสถานตากอากาศบางปู และส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือจากสถานีคูคต ถึงสถานีคลอง 5 

ขณะนี้กรุงเทพมหานครยอมรับว่ายังไม่มีงบประมาณลงทุนส่วนต่อขยายดังกล่าว แต่เคยมีการหารือกับรัฐบาล หากจะพัฒนาอาจเปิดประมูลรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) ซึ่งก็รับได้แต่ต้องศึกษาด้วยว่าจะมีเอกชนพร้อมลงทุนหรือไม่ เพราะหากเป็นเอกชนคนละราย ก็จะเกิดปัญหาประชาชนเสียค่าแรกเข้าหลายครั้ง

“สายสีทอง”นั่งฟรีถึง15ม.ค.

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง จะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรีจนถึงวันที่ 15 ม.ค.2564 และหลังจากนั้นมีกำหนดจัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15 บาทตลอดสาย โดยรถไฟฟ้าสายสีทองมีรูปแบบการลงทุนที่ไม่ใช้งบประมาณของส่วนราชการ และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ให้สิทธิพื้นที่โฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้าแก่เอกชน เป็นระยะเวลา 30 ปี และนำรายได้ดังกล่าวมาลงทุนก่อสร้าง 

ทั้งนี้ ทรัพย์สินในโครงการทั้งหมดเป็นของกรุงเทพมหานครตั้งแต่เริ่มให้บริการ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน