นายกฯ ห่วงปชช.ได้รับผลกระทบฝุ่น สั่งจนท.เร่งแก้ PM 2.5

นายกฯ ห่วงปชช.ได้รับผลกระทบฝุ่น สั่งจนท.เร่งแก้ PM 2.5

นายกฯ ห่วงประชาชนได้รับผลกระทบ PM 2.5 สั่งในที่ประชุม ครม. ให้เจ้ากระทรวงติดตามหน่วยงานในกำกับเร่งแก้ PM 2.5 ลดผลกระทบด้านสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนให้มากที่สุด

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานปัญหาฝุ่น PM 2.5 และห่วงใยประชาชนที่อาศัยและทำกิจกรรมในพื้นที่ที่สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 รุนแรง โดยได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5  ติดตามการปฏิบัติงานหน่วยงานในกำกับของตน เร่งบรรเทาฝุ่น PM 2.5  ลดผลกระทบด้านสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันให้มากที่สุด แต่ต้องไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน 

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้กำหนดแนวทางแก้ปัญหา PM 2.5  ยกระดับขึ้นเป็นวาระแห่งชาติโดยเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” (.. 2563)  ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบท ป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิดเช่น ยานพาหนะ อุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง การก่อสร้างและผังเมืองและภาคครัวเรือน  และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ รวมทั้งแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 มาตรการ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามรายงานสถานการณ์PM 2.5  ได้ตลอดผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจ “ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)” https://www.facebook.com/airpollution.CAPM

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเปิดเผยว่า ระหว่างการเยี่ยมชมสถานีกลางบางซื่อ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ยืนยันว่ารัฐบาลได้มีการออกมาตรการแก้ปัญหา PM 2.5  และให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจำกัดหรืองดการเผาลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ขอให้ใช้รถขนส่งมวลชนสาธารณะให้มากขึ้น ตรวจจับรถควันดำอย่างเข้มงวด ไม่ต่อใบอนุญาตรถที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาเรื่องของ PM2.5 ก็ดีขึ้น ยอมรับว่าปัญหา PM 2.5  มักจะเกิดในช่วงที่อากาศปิดในลักษณะครอบฝาซี รวมทั้งจากการเผาวัชพืชเพื่อเตรียมเพาะปลูกฤดูกาลใหม่ การก่อสร้าง การขนส่งคมนาคมและการจราจร ซึ่งได้กำชับให้ไปดำเนินการตรวจสอบ เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก

อนึ่ง ในวันนี้  ศูนย์แถลงข่าวทำเนียบรัฐบาล  นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงว่า  เนื่องจากสภาพอากาศในช่วง 1-2 วันนี้ ทำให้เกิดการสะสมของ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัมลูกบาศก์เมตรทำให้เช้าวันนี้ พื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 14  เขต  ซึ่งพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรุงเทพมหานคร ยกระดับเชิงปฏิบัติการให้เข้มข้นขึ้นด้วย ทั้งการปรับแผนเพิ่มตรวจสกัดรถควันดำ งดการเผาในที่โล่ง รวมไปถึงในจังหวัดใกล้เคียง กทมทุกจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 14 – 17 .โดยจะมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนเติมน้ำมันที่มีค่ากำมะถันต่ำเพื่อช่วยลดควันดำ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนผู้ประกอบการ เช่น ลดราคาน้ำมัน ลดราคาการตรวจสภาพเครื่องยนต์

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาจะประสานกับกรมควบคุมมลพิษเพื่อนำข้อมูลมาแจ้งเตือนกับประชาชนเป็นระยะ   ซึ่งช่วงปีใหม่นี้ยังต้องตรวจสอบสภาพอากาศ ดูความกดอากาศสูงว่ามาต่อเนื่องหรือไม่ แต่คาดว่าในช่วง 2 วันหลังจากนี้ ปริมาณฝุ่นจะลดลงเพราะมีลมพัด  นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงพื้นที่สีส้ม สีแดง ซึ่งมีค่า PM2.5 สูงและผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรอยู่ในพื้นที่ปลอดฝุ่น หากมีอาการหายใจไม่สบาย สามารถปรึกษาแพทย์ได้ในโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทุกแห่งในพื้นที่ สำหรับโรงเรียนขอให้ลดระยะเวลาการเข้าแถวตอนเช้ารวมทั้งป้องกันฝุ่นในห้องเรียนด้วย 

โอกาสเดียวกันนี้ ร้อยตำรวจเอก พงศกร ขวัญเมืองโฆษก กทมยืนยัน กทมออกแผนปฏิบัติ 2 เดือน ช่วงเดือน .. – .อาทิ การกำกับดูแลพื้นที่ก่อสร้างไม่ให้ทำกิจกรรมเกิดฝุ่นมาก ลดกิจกรรมกลางแจ้งในโรงเรียน การล้างถนน ฉีดละอองน้ำจากอาคารสูง การเปิดคลินิกมลพิษเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย สำหรับการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ การก่อสร้างรถไฟฟ้า จะให้ดำเนินการได้แค่กิจกรรมที่ไม่เกิดฝุ่น เช่น การตกแต่งภายใน  ในส่วนการขนดิน การถมพื้นที่ การขุดเจาะ จะประสานขอให้งดกิจกรรมในช่วง 2-3 วันนี้ก่อน เพราะก่อให้เกิดฝุ่นปริมาณมาก  

และดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา นักวิชาการ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นทางวิชาการว่า มาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของรัฐบาลเดินทางแล้ว โดยอาศัยวิชาการเป็นหลักในการกำหนดนโยบายและมาตรการเน้นการกำจัดแหล่งต้นตอของฝุ่น รวมทั้งลดพฤติกรรมตนเองที่จะเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในที่สุดเชื่อว่า PM2.5 สามารถหมดไปจากประเทศไทยเหมือนที่ไทยประสบความสำเร็จกำจัดสารตะกั่ว ซึ่งก็เป็นผลมาจากนโยบายและมาตรการของรัฐบาลเช่นกัน