สลค.เร่งเคลียร์ปม BTS ต่ออายุสัมปทานสายสีเขียว

สลค.เร่งเคลียร์ปม BTS ต่ออายุสัมปทานสายสีเขียว

“ศักดิ์สยาม” เผย สลค.เร่งถามความเห็นต่อสัญญาสายสีเขียว ก่อนชง ครม.อนุมัติ ชี้ต้องมองประโยชน์รัฐ-ประชาชน ระบุต้องรอความชัดเจนกรณีร้อง ป.ป.ช. “บีทีเอส” เร่งตอบคำถามคมนาคม พร้อมเปิดเดินรถตลอดสาย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเปิดโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต–สะพานใหม่-คูคต วันนี้ (16 ธ.ค.) ขณะที่การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานครและบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุม ครม.วันที่ 15 ธ.ค.2563 ยังไม่มีการเสนอเรื่องการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวมาพิจารณา โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ รถไฟฟ้า BTS ยังต้องรอขั้นตอนของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ที่อยู่ระหว่างการทำหนังสือเวียนขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นที่กระทรวงคมนาคมตั้งข้อสังเกตในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ประเด็นที่กระทรวงคมนาคมตั้งข้อสังเกตใน ครม. 4 เรื่อง คือ 

1.ความครบถ้วนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 

2.ค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ 

3.การใช้สินทรัพย์ของรัฐที่รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

4.ข้อพิพาททางกฎหมายและการร้องเรียน

นายศักดิ์สยาม ตอบคำถามประเด็นสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวควรให้รายเดิมหรือประมูลใหม่ ว่า ต้องฟังความเห็นรอบด้านจากทุกฝ่ายและความเห็นที่กระทรวงคมนาคมทำไปอยู่บนเงื่อนไขคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่สั่งการไว้ 3 เรื่อง คือ

1.ดำเนินการให้รวดเร็ว

2.เป็นประโยชน์ต่อรัฐ

3.เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งถ้าดำเนินการได้ตามนี้ก็จบ 

“บางเรื่องผมว่ายังต้องรอ อย่างกรณีคำร้องมีผู้ร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เป็นเรื่องเก่าสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ไปขยายสัญญาแต่ไม่ได้เป็นมติ ครม.โดยตรง แต่เป็นการอ้างมติ ครม.ซึ่งเป็นการรับรองมติของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เท่านั้น ว่าให้กรุงเทพมหานครดำเนินการทั้งที่เป็นเพียงการรายงานการผลประชุม และกรุงเทพมหานครไม่ได้ทำการบ้านต่อในฐานะผู้ลงนามกับเอกชนจะทำได้หรือไม่” นายศักดิ์สยาม กล่าว

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ประเด็นหนึ่งที่เคยมีการหารือใน ครม.เกี่ยวกับการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว คือ สถานะของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งมีกรุงเทพมหานคร ถือหุ้น 99.8% มีสถานะอย่างไร ซึ่งสถานะตามกฎหมายของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด อาจรับงานต่อจากกรุงเทพมหานครได้ 

ส่วนกรณีที่บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ไปเจรจากับเอกชนนั้น มีประเด็นบริษัทดังกล่าวนี้เป็นรัฐหรือเอกชน โดยหากเป็นรัฐต้องใช้กฎหมายอีกแบบหนึ่ง แต่การไปเจรจากับบีทีเอสบอกสถานะเป็นบริษัท ทำให้เมื่อมีการค้านใน ครม.จึงมีรัฐมนตรีบางคนแย้งว่าต้องตีความให้ชัดเจนและอธิบายให้ได้หากผิดพลาดจะเป็นคดีอาญาหรือคดีทุจริตที่ไม่มีอายุความ

นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่าความคืบหน้าการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ กทม. กระทรวงมหาดไทย โดยล่าสุดอยู่ระหว่างการทำความเห็นตอบกระทรวงคมนาคมเพื่อรอเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป และในส่วนการพิจารณาส่วนต่อขยายสายสีชมพู หาก ครม.อนุมัติจะใช้เงินลงทุน 3,000 ล้านบาท โดยบริษัทร่วมลงทุนกับบางกอกแลนด์ในสัดส่วน 50:50

ขณะเดียวกันบริษัทยังคงมีแผนการลงทุนใหม่หลังจากนี้ต่อเนื่อง โดยมีระบบขนส่งมวลชน 2 โครงการใหม่ที่ได้สัญญาสัมปทานมาแล้ว คือ มอเตอร์เวย์ กำลังรอลงนามเซ็นสัญญา และในส่วนของสนามบินอู่ตะเภา ที่ได้ลงนามเซ็นสัญญาไปแล้วเมื่อกลางปีนี้รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีส้มก็ได้ยื่นประมูลแล้ว

ในปี 2564 บริษัทยังมีความตั้งใจเข้าร่วมประมูลโครงการใหม่ๆอย่างต่อเนื่องทั้งการประมูลรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ และมอเตอร์เวย์อีก 2 สาย ซึ่งหากเป็นระบบขนส่งมวลชนมีความสนใจทั้งหมด โดยยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนตามแนวทางที่วางไว้ ซึ่งการลงทุนดังกล่าวยังส่งผลประโยชน์มายังธุรกิจสื่อโฆษณา อสังหาริมทรัพย์และธุรกิจบริการ

“ไทยยังมีโอกาสที่จะขยายระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งอีกมาก อย่างเช่นการเดินทางระบบรถไฟฟ้า ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในทุกวัน มีส่วนแบ่งราว 11-12% เพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 10 ปีก่อนอยู่ที่ 6% ขณะที่เมืองหลวงในญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง อยู่ที่กว่า 40% ดังนั้นในการขยายระบบรถไฟฟ้าจะทำให้คนมาใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับแนวโน้มในอนาคต ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสีเหลือง คืบหน้าไปแล้ว 67% คาดว่าจะทยอยเปิดให้บริหารทั้ง 2 โครงการดังกล่าวในเดือนต.ค.2564

ขณะที่วันนี้ (16 ธ.ค.) จะมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือเพิ่มเติมอีก 6 สถานี ตั้งแต่สถานีพหลโยธิน 59 จนถึงสถานีคูคต เป็นระยะทาง 8.6 กิโลเมตร ถือว่าครบ 16 สถานีของส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือจะทำให้มีเครือข่ายให้บริการในสายสีเขียวทั้งหมด59สถานีระยะทาง 66.7 กิโลเมตร ครอบคลุม 3 จังหวัด ตั้งแต่ปทุมธานี กทม.จนถึงสมุทรปราการ 

พร้อมกับจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีทอง เฟสแรก 3 สถานี จากสถานีกรุงธนบุรี เจริญนครและคลองสาน โดยมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีกรุงธนบุรี ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงในปี 2563/2564 เป็นไปตามเป้าหมาย