คกก.นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เคาะ 3 มาตรา 'ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ'

คกก.นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เคาะ 3 มาตรา 'ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ'

คกก.นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เห็นชอบ 3 มาตราเข้ม “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ลดอุบัติเหตุเทศกาลปีใหม่ 64

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.63 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 โดยเน้นรณรงค์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” เข้มงวดใน 3 มาตรการ คือ ห้ามขายให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ห้ามขายลักษณะการลด แลก แจก แถม ชิงโชค และห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แสดงชื่อหรือเครื่องหมายที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ดื่ม โดยจะมีการตั้งด่านชุมชน ให้ อสม.ประเมิน และคัดกรองคนเมาเบื้องต้น เพื่อสกัดกั้นผู้ดื่มในชุมชนไม่ให้ขับขี่พาหนะ หากเกิดอุบัติเหตุจะมีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ทุกราย หากเป็นเด็ก และเยาวชนดื่มแล้วขับ จะเอาผิดถึงผู้ขายด้วย และนำไปสู่การคุมประพฤติและบำบัดรักษาตามที่ศาลสั่ง

ทั้งนี้ ยืนยันว่าช่วงปีใหม่จัดงานรื่นเริงได้ แต่ต้องขออนุญาตและเสนอแผนมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณา หากมีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องมีใบอนุญาตขายจากกรมสรรพสามิต การจัดงานต้องปฏิบัติตามมาตรการที่เสนอ ทั้งการคัดกรองวัดไข้ และคนเมาไม่ให้เข้าร่วมงานการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และลงทะเบียนไทยชนะ หากพบว่าไม่ดำเนินการตามมาตรการจะสั่งระงับการจัดงาน ส่วนนักดื่มต้องระวังโรคโควิด-19 เนื่องจากความมึนเมาอาจทำให้หยิบแก้วปะปนกันหรือสัมผัสละอองฝอยจากการพูดคุยตะโกนใส่กัน

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 พ.ศ. 2564 – 2570 โดยมีเป้าหมายป้องกัน และควบคุมปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประกอบ 7 กลยุทธ์ คือ

  1. ควบคุมและจำกัดการเข้าถึง
  2. ควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม
  3. คัดกรองและบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา
  4. ควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขาย และการให้ทุนอุปถัมภ์
  5. ขึ้นราคาผ่านระบบภาษี
  6. สร้างค่านิยมเพื่อลดการดื่ม เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ของสินค้าแอลกอฮอล์ เป็นสินค้าเสพติด ทำลายสุขภาพทำร้ายสังคม
  7. พัฒนากลไกการขับเคลื่อนนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกระดับ และการบริหารจัดการที่ดี โดยแต่ละกลยุทธ์จะมีโครงการและกิจกรรมรับรอง เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง สามารถจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ และขยายผลได้