สอศ. ชี้แจงหนังสือเรียน 'ชีวิตกับสังคมไทย' หลักสูตร ปวส.

สอศ. ชี้แจงหนังสือเรียน 'ชีวิตกับสังคมไทย' หลักสูตร ปวส.

สอศ. ชี้แจงหนังสือแบบเรียนชื่อ “ชีวิตกับสังคมไทย” หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) ปี 2563 เตรียมหารือ ร่วมกับบริษัทผู้พิมพ์ผู้โฆษณา กองบรรณาธิการ และผู้เขียน พร้อมทบทวนการใช้หนังสือเรียนในหลักสูตร ผ่านการกลั่นกรองจากภาคี 4 ฝ่าย

ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  เปิดเผยถึงข้อวิจารณ์​แบบเรียนหลักสูตร ปวส.ซึ่งผู้ใช้งานทวิตเตอร์จำนวนมากแชร์ภาพและวิจารณ์แบบเรียนชื่อ “ชีวิตกับสังคมไทย” หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) ปี 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ  ขอชี้แจงว่า

หลักสูตรดังกล่าวอยู่ในหลักสูตรกลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ ที่มีจุดประสงค์รายวิชา และสมรรถนะแกนกลาง ประกอบด้วย ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคม ศิลปะวัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญาของไทย สามารถวิเคราะห์และประเมิน การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและวัฒนธรรมไทยตระหนักและเห็นคุณค่าของศิลปะวัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาของไทย

โดยครูผู้สอนสามารถเลือกใช้แบบเรียน หนังสือต่างๆ ประกอบการเรียนได้ ที่มีวัตถุประสงค์และสามารถสร้างสมรรถนะได้ตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ โดยบางเนื้อหาที่มีความไม่ถูกต้อง เหมาะสม ก็มิได้นำมาเป็นบทเรียน ทั้งนี้ก็จะอยู่ในดุลยพินิจของผู้สอน โดยเชื่อมโยงกับแผนการสอน  และในแต่ละรายวิชา ของหลักสูตร ปวส.


ก็จะมีหนังสือเรียนที่หลากหลาย แต่ละบทเรียน
ก็มิได้บังคับหรือจำเป็นจะต้องใช้หนังสือเรียนเพียงเล่มเดียว ซึ่งสามารถเลือกใช้หนังสือหลายเล่มประกอบกัน รวมถึงสามารถนำบริบท ชุมชนมาร่วมในการจัดการเรียนการสอนด้วย

เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษากล่าวต่อไปว่าอย่างไรก็ตามในส่วนของหนังสือเรียนดังกล่าว สอศ.จะกำหนดการหารือ ร่วมกับบริษัทผู้พิมพ์ผู้โฆษณา กองบรรณาธิการ และผู้เขียน พร้อมทั้งจะให้มีการทบทวนในเรื่องของการใช้หนังสือเรียนในหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) โดยนำแนวคิดและกระบวนการในการคัดเลือกหนังสือเรียนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ซึ่งมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ครูผู้ใช้หลักสูตร เป็นผู้ตรวจประเมิน และผ่านการกลั่นกรองจากคณะภาคี 4 ฝ่าย (ผู้แทนนักเรียน นักศึกษา ครู ผู้ปกครอง และชุมชน) เป็นผู้คัดเลือกหนังสือสำหรับใช้ในการเรียนการสอนต่อไป