ต้องระวัง! อาชญากรรมบนโลก 'Social Media'

บนโลก "Social Media" ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานอย่างเราๆ มักถูกเปิดเผยโดยตั้งใจ และไม่ตั้งใจ ทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีก่ออาชญากรรมบนโลก Social ขึ้นมากมาย เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขอย่างไร

ปัญหาที่หลายๆ คนบนโลก Social พบเจอคือการถูกผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาสวมรอยใช้งานบัญชี Facebook หรือ Line ของเราแล้วก็เที่ยวไปขอยืมเงินจากพรรคพวกเพื่อนฝูง ซึ่งก็มีพรรคพวกจำนวนไม่น้อยที่โอนเงินให้มิจฉาชีพเหล่านั้นอย่างรวดเร็ว ด้วยความเป็นห่วงเพื่อน เราลองมาดูกันครับว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขอย่างไร

  • รหัสผ่านต้องสร้างสรรค์

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างแรกคือ การตั้งรหัสผ่านหรือ Password ในการเข้าสู่โลก Online ม่ว่าจะเป็น Facebook, Line, Instagram ปัญหาที่ได้เจอคือหลายคนจะตั้งรหัสผ่านจากเรื่องใกล้ตัว เช่น เบอร์โทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด ชื่อบุคคลในครอบครัว และจะใช้รหัสผ่านเดียวกันทั้งหมด ซึ่งเหล่ามิจฉาชีพก็จะมีประสบการณ์ในการเดาข้อมูลในลักษณะนี้ได้ไม่ยาก เมื่อเข้าไปในระบบของเราได้แล้ว สิ่งที่มิจฉาชีพจะทำต่อไปก็คือการเข้าไปหาข้อมูลในกลุ่มเพื่อนๆ ซึ่งส่วนใหญ่ทุกคนก็จะมีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เบอร์โทรศัพท์ Email, IG และอื่นๆ เพื่อความสะดวกในการติดต่อในหมู่เพื่อนฝูงด้วยกัน คราวนี้ก็ง่ายแล้วครับ มิจฉาชีพจะมีข้อมูลเพียงพอที่จะไปไล่แฮกระบบของเพื่อนๆ ทุกๆ คน อาจจะดูการพูดคุยใน Inbox บางคนพ่วง Facebook เข้ากับ Platform อื่นๆ เพื่อความสะดวก

ถึงตอนนี้ก็เรียบร้อยโรงเรียนโจรครับ ถ้าขยันหน่อยพวกนี้ก็จะฝังตัวอยู่ในเครื่องเราเพื่อศึกษาพฤติกรรมสักระยะ ก่อนที่จะฉวยโอกาสในจังหวะเราเผลอ อาจจะเป็นช่วงที่ไปต่างประเทศ ไปต่างจังหวัดหรือหายไปจาก Social Network สักระยะ แล้วก็ทำตัวเป็นเราไปหยิบยืมเงินทองจากกลุ่มเพื่อนๆ อย่างที่กล่าวมาแล้ว

แต่ถ้าเลวร้ายไปกว่านั้นบางคนอาจจะถูกนำบัญชีไปใช้ในการประกอบอาชญากรรมประเภทอื่นๆ ที่รุนแรงและมีโทษหนักกว่าแค่หยิบยืมเงินจากเพื่อนก็เป็นได้ ซึ่งถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ จริงๆ ยังไงเราก็หนีความผิดไปไม่พ้นเพราะบัญชีและประวัติการใช้งานเป็นของเราทั้งหมด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรระวังครับ

  • โดนแฮกแล้วต้องทำยังไง

ถ้าเราพลาดโดนขโมยรหัสผ่านเอาบัญชีไปใช้งาน สิ่งแรกที่เราต้องทำอย่างเร่งด่วนคือแจ้งพรรคพวกเพื่อนฝูงตามช่องทางต่างๆ ให้มากที่สุด พร้อมกับแจ้งความที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐานแสดงความบริสุทธิ์ใจ จากนั้นก็ต้องรีบรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประวัติการใช้งานหลังจากถูกโจรกรรมข้อมูลไป

สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือเลขบัญชีธนาคาร ที่มิจฉาชีพใช้ในการรับเงินซึ่งเจ้าหน้าที่จะใช้ช่องทางนี้ในการติดตามคนร้ายต่อไป เราซึ่งเป็นผู้เสียหายมีสิทธิ์ที่จะส่ง Email ไปยังเจ้าของ Platform เพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของตัวจริง แจ้งระงับการใช้งานหรือขอเปลี่ยนรหัสผ่าน และกู้บัญชีกลับมาให้เร็วที่สุด

โดยปกติ Platform ต่างๆ มักจะให้เรามี Email สำรองเพื่อใช้ติดต่อในยามฉุกเฉินอยู่แล้ว เมื่อได้บัญชีกลับมาแล้วเราก็ต้องรีบเข้าไปดูประวัติการใช้งานหรือ log file ในช่วงที่ผ่านมาเพื่อนำไปให้เจ้าหน้าที่สืบหาผู้กระทำความผิดต่อไป

สำหรับหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือเรียกสั้นๆ ว่า ปอท. และอีกที่ๆ สามารถจะให้คำแนะนำได้ครอบคลุมหลายๆ ประเด็นก็คือ กองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีศูนย์ช่วยเหลือประชาชน ตั้งอยู่ที่ชั้น 6 ทิศเหนือ อาคารบี ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กทม.

  • ป้องกันอย่างไรไม่ให้โดนแฮก

จริงๆ แล้ว ด้วยระบบ Digital ก็มีการป้องกันให้กับผู้ใช้งานอยู่แล้วในระดับสูงพอสมควรนะครับ แต่สิ่งที่หลายๆ คนพลาดไปก็มักจะเกิดจากความประมาท อาทิ การตั้งรหัสผ่านที่มักจะตั้งแบบง่ายๆ ทั้งๆ ที่ระบบก็จะบอกอยู่แล้วว่ามันง่ายเกินไป แต่เราก็ยังดื้อดึงตั้งแบบง่ายๆ และมักจะใช้รหัสผ่านเดียวกันหมดในทุกๆ Platform ซึ่งในปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน ถ้าโดนมิจฉาชีพล้วงข้อมูลเราได้ ก็จะสามารถทะลุทะลวงเข้าไปในชีวิตของเราแบบสบายๆ ดังนั้นทุกคนควรให้ความสำคัญกับรหัสผ่านสักนิดนึงครับ ตั้งให้ยาก และเปลี่ยนบ้างไม่ใช่ใช้รหัสเดิมเป็นปีๆ เพราะโอกาสพลาดมีสูงครับ

อีกอย่างก็คงเป็นการใช้คอมพิวเตอร์แบบเลื่อนลอย คือของคนอื่นบ้าง หรือใช้ของในที่สาธารณะบ้าง อันนี้ถ้าเราไม่ระวังโอกาสพลาดก็จะมีเช่นกันครับ การเล่นคอมพิวเตอร์แล้วเปิดจอค้างไว้ แล้วไปทำอย่างอื่นเป็นอีกสิ่งที่ไม่ควรกระทำ การใช้อุปกรณ์ Digital ที่มีการ Log in เราก็ต้องไม่ลืม Log out ทุกครั้งก่อนเลิกใช้งาน เรื่องแบบนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติแต่ที่ผ่านๆ มาที่พลาดกันก็ด้วยเรื่องง่ายๆ แบบนี้แหละครับ

ประการสุดท้ายที่อยากจะเตือนไว้ก็คือทุกคนต้องจำไว้เสมอว่า Social Network ไม่ได้เป็นโลกของความจริงทั้งหมด อย่าวางใจ อย่าเชื่อใครง่ายๆ บนโลก Social คนบางคนที่เข้ามาคุยกับเรา อาจจะมีอีก 10 คนช่วยกันหาข้อมูลของเราเพื่อเชิญชวนและนำเสนอเพื่อให้เราเชื่อใจและจ้องหาโอกาสที่จะทำร้ายเราอยู่ก็เป็นได้

เจอกันตัวเป็นๆ ยังหลอกกันได้ แล้วบน Social จะเหลือเหรอครับ