ชำแหละ 4ประเด็นเห็นต่าง “ทางวิบาก” แก้รัฐธรรมนูญ

ชำแหละ 4ประเด็นเห็นต่าง “ทางวิบาก” แก้รัฐธรรมนูญ

กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ เร่ิมเข้าสู่เนื้อหารายมาตราแล้ว แต่แค่มาตราแรก ยังต้อง "แขวน" การพิจารณาไว้ ส่อเค้าให้เห็นความไม่ลงลอย ที่อาจนำไปสู่ "ทางวิบาก" ของการปรับปรุงกติกาสูงสุดของประเทศ

       การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ​ พ.ศ.2560 ภายใต้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา256 และ เพิ่มหมวด15/1 ว่าด้วยสภาร่างรัฐธรรมนูญ) รัฐสภา ที่มี "วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ​  เป็นประธานกมธ. เข้าสู่การพิจารณาลงรายมาตราแล้ว 
       แต่การเริ่มลงรายมาตรา ถกในรายละเอียด บทสรุป เหมือนไม่ได้เริ่ม เพราะ กมธ. ตัดสินใจ “แขวน” เรื่องนั้นไว้ 
       นั่นคือ มาตรา 3 ที่ให้แก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ปลดล็อค “ความแก้ยาก” ให้ง่ายขึ้น คือ การใช้เกณฑ์เสียงของส.ว. จำนวน 1 ใน 3  หรือ 84 เสียง ร่วมเห็นชอบ “วาระแรก”  และ กำหนดเงื่อนไขการเห็นชอบวาระสาม ให้ “ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน”​ ลงเสียงเห็นชอบ เกินร้อยละ 20 จึงจะถือว่า “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นั้น ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา
  
       ต่อเรื่องนี้ “นิกร จำนง” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะเลขานุการ กมธ.ฯ  บอกเหตุผลที่ต้องรอพิจารณา เพื่อสรุปในตอนท้าย ว่า  การปลดล็อคนั้น มี 3 ทางเลือก คือ 1. ใช้เสียง 3ใน5 หรือ 450 เสียง ตามร่างของพรรคร่วมรัฐบาล, 2.ใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 500 เสียงตามข้อเสนอของส.ว.ที่เป็นกมธ. และ 3.ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง  หรือ 350 เสียง จากร่างของพรรคฝ่ายค้าน
       “แต่ละฝ่ายแสดงความเห็นในทิศทางที่ยังไม่ตรงกัน แต่โดยส่วนตัว ฐานะผู้ทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ของพรรคร่วมรัฐบาล ขอชี้แจงว่า เกณฑ์ใช้ 3 ใน 5 นั้น เพื่อให้เหมาะสมอีกทั้งในหลายประเทศที่แก้กฎหมายสำคัญ หรือกฎหมายแม่ไม่ควรให้แก้ง่ายจนเกินไป เพราะบางครั้งเสียงข้างมากอาจใช้การรวมเสียงข้างมาก พ่วงกับส.ว.อีกเล็กน้อย สามารถแก้ไขรายละเอียดใดก็ได้ แต่หากใช้เสียง 3 ใน 5 หรือ 450 เสียง เท่ากับว่าต้องได้รับความเห็นพ้องร่วมกันจำนวนหนึ่ง”
160770317121
       แต่นอกเหนือจาก มาตราปลดล็อคเงื่อนไขที่ทำให้แก้รัฐธรรมนูญยาก ที่ว่า คุยกันยากแล้ว “นิกร” ยังบอกว่ามีอย่างน้อยอีก 3 ประเด็นต่อจากนี้ที่จะใช้เวลาถกเถียง และอาจเลยไปถึงการตัดสิน ด้วยเสียงข้างมาก  จากการลงมติ 
       คือ 1. กระบวนการได้มา ซึ่ง ส.ส.ร. ที่พรรคฝ่ายค้าน เสนอให้ มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน ขณะที่ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล เสนอให้มาจากเลือกตั้ง 150 คน และคัดสรร 50 คน
       2.กรอบเวลาการทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีตัวเลือกตามการเสนอของฝ่ายค้าน 120 วัน ส่วนข้อเสนอฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล 240วัน
       และ 3.กระบวนหลังจากที่ ส.ส.ร.ทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ซึ่งข้อเสนอของพรรคร่วมรัฐบาล คือ ให้นำกลับมาให้รัฐสภาเห็นชอบ ใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งตัดสิน แต่หากรัฐสภาไม่เห็นชอบ ให้นำไปทำประชามติ ขณะที่ข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้าน คือ ให้ทำประชามติ
       “กรรมาธิการ จะไม่ใช้เสียงข้างมากลากไป แต่จะถกในรายละเอียด คุยกันด้วยเหตุผลเพื่อให้กระบวนการที่นำไปสู่การตั้งส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รับกันได้ อย่างล่าสุดในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ที่เสนอให้มีตัวแทนจากการคัดสรร  50 คนนั้น ไม่ติดใจหากจะแก้ไขส่วนของ ส.ส.ร.กลุ่มเยาวชน จากเดิมที่เขียนให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้คัดเลือก ตอนนั้นอาจจะคิดไม่รอบคอบ ตอนนี้จึงคิดกันว่าจะเชิญตัวแทนเยาวชน กลุ่มผู้ชุมนุม สภานิสิตนักศึกษา ระดมสมองเพื่อหาแนวทางคัดเลือกเยาวชนร่วมเป็นส.ส.ร.” นิกร ระบุ
160770304035
       อย่างไรก็ดี ในเหตุผล  3 ประเด็นนั้นสำคัญ เพราะเป็นเงื่อนไข เสมือนเป็นหัวใจ ต่อกระบวนการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็นกติกากำหนดการครอง หรือ การแย่งชิงอำนาจ ว่า ใครจะได้เปรียบมากกว่ากัน
       และตอนนี้ ในกระบวนการที่สำคัญดังว่า โดยเฉพาะ ที่มาของส.ส.ร. และ การใช้เสียงลงมติ ที่หากจะใช้เสียงโหวตจริง แน่นอนว่า กมธ.ฯ เสียงฝ่ายค้านต้องแพ้เพราะจำนวนมีน้อยกว่า จาก 13 คน ในกมธ. 45 คน จึงเริ่มมีการกดดันจากสังคมภายนอก
       ดังนั้นหาก 3-4ประเด็นที่ กมธ.ฯ ต้องคุยกันเพื่อให้รับกันได้ทุกฝ่าย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องถกกันเพื่อสร้างการยอมรับให้ได้ ไม่เฉพาะ “กรรมาธิการฯ” เท่านั้น แต่หมายถึง สมาชิกรัฐสภาที่เหลือ และภาคประชาสังคม รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง
       เพราะหากไม่สามารถใช้เวทีของกมธ.ฯ สร้างความ “พอรับได้” ทางวิบาก ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องเกิดขึ้นแน่นอน ไม่ว่าจะภายใต้หน้าที่ของ “รัฐสภา” หรือ บทบาทของ “ส.ส.ร.” หลังจากนี้
        เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐธรรมนูญ คือ กติกาว่าด้วยการจัดสรรอำนาจ 
       และเรื่องอำนาจนั้น ไม่เข้าใครออกใคร และใครจะคิดการใหญ่อนาคต ต้องเร่ิมต้นจากตัวบทรัฐธรรมนูญ เสมอ
       เหมือนอย่าง รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่วางกลไก ซึ่งปูทางไปสู่การสืบทอดอำนาจ อย่างแยบยล. 
160770304030