'จุรินทร์' ลั่นจุดยืนปชป.ไม่เอาสาธารณรัฐ ยันม.112 คุ้มครองประมุข

หัวหน้าพรรคปชป.ลั่นไม่เอาสาธารณรัฐ ส่วนแก้ม.112 กฎหมายทุกประเทศคุ้มครองประมุข

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี แลรมว.พาณิชย์ กล่าวระหว่างลงพื้นที่เพื่อไป kick off จ่ายเงินประกันรายได้ยางพาราและลงพื้นที่เปิดงานกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวพังงา-ภูเก็ต ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต โดยก่อนเริ่มภารกิจวันนี้นั้นนายจุรินทร์ กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าว ว่า

ตนและพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยเรื่องการที่จะไปเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยเป็นระบอบสาธารณรัฐหรือคอมมิวนิสต์ เพราะเรามีจุดยืนชัดเจนว่าประเทศไทยต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น คือสิ่งที่เป็นจุดยืนและเป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับชัดเจนต้องไม่ไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆทั้งสิ้น

ส่วนคำถามเรื่องการยกเลิกมาตรา112 นั้น นายจุรินทร์ ตอบว่า ทุกประเทศในโลกก็จะต้องมีกฎหมายที่คุ้มครองประมุขของประเทศด้วยกันทั้งสิ้น โดยกฎหมายมาตรา 112 ก็เป็นมาตราหนึ่งสำหรับประเทศไทยที่คุ้มครองหรือปกป้องประมุขของประเทศไทยของเราเช่นเดียวกับทุกประเทศในโลก คือสิ่งที่อยากให้ทุกท่านได้เกิดความเข้าใจ

นายจุรินทร์ กล่าวถึงที่มา สสร.200 คนที่มีคำถามว่าควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ด้วยว่า อันนี้เป็นหน้าที่ของกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้กำหนดขณะนี้การแก้รัฐธรรมนูญผ่านการรับหลักการวาระที่หนึ่งแล้วและอยู่ในวาระที่สองคือขั้นแปรญัตติทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับกรรมาธิการที่จะเป็นผู้พิจารณาก่อนนำกลับมาพิจารณาในรัฐสภาใหญ่แล้วมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งในวาระที่สามเรื่อง สสร.นั้นเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าในจำนวนประมาณ 200 คน ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ หรือมาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่แล้วมาจากการสรรหาบางส่วนซึ่งมีข้อดีข้อด้อยด้วยกันทั้งสองส่วน ถ้ามาจากการเลือกตั้งทั้งหมดก็อาจจะอ้างได้ว่าประชาชนเป็นผู้เลือกมาแต่อาจมีจุดอ่อนได้ถ้าผลการเลือกตั้งที่ออกมากลายเป็นผู้ที่อิงอยู่กับพรรคการเมืองหรือในเส้นสายทางการเมืองได้รับเลือกตั้งมาจำนวนมาก สุดท้ายอาจจะกลายเป็นคล้ายกับสภาผัวสภาเมียเหมือนที่เกิดขึ้นในวุฒิสมาชิกกับสภาผู้แทนราษฎรในอดีตได้

" ไม่ได้แปลว่าผมจะมีความเห็นอย่างนั้นแต่มีข้อท้วงติงได้แต่ข้อดีคือสามารถอ้างได้ว่ามาจากการเลือกตั้งจากประชาชนแต่สำหรับรูปแบบผสมคือมาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่แต่ว่ามาจากการสรรหาอีกจำนวนหนึ่งเหมือนกับร่างของพรรคร่วมรัฐบาลคือให้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน 150 คนและมาจากการสรรหา 50 คนในจำนวน 50 คนนั้นประกอบด้วยตัวแทนของสภาผู้แทนจำนวนหนึ่ง วุฒิสมาชิกตัวแทนของวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง และอีก 20 คนมาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการสรรหาของที่ประชุมอธิการบดีหรือทางฝ่ายวิชาการและอีกจำนวนหนึ่งประมาณ 10 คนมาจากตัวแทนนักศึกษา จะช่วยให้เกิดความหลากหลายขึ้น

เพราะบางครั้งการเลือกตั้งทั้งหมดนักศึกษาอาจจะไม่ติดสักคนก็ได้สุดท้ายก็จะไม่มีตัวแทน หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญทั่วโลกที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้อาจจะไม่ติดมาก็ได้สุดท้ายอาจกลายเป็นจุดอ่อน จุดดีคือสามารถที่จะช่วยให้มีความหลากหลายและมีการผสมผสาน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการที่จะเป็นผู้พิจารณา  ผมเห็นด้วยที่จะต้องมี สสร.ยกร่างขึ้นมาใหม่โดยไม่แตะหมวดหนึ่งหมวดสองเพราะถ้าไปแตะหมวดหนึ่งหมวดสองไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปเป็นสาธารณรัฐหรือคอมมิวนิสต์ก็ทำไม่ได้และไม่ควรทำ" นายจุรินทร์ กล่าว