'หลง' คิดตามกลุ่มยุค 2020

'หลง' คิดตามกลุ่มยุค 2020

ทำความรู้จัก "อาการหลงคิดตามกลุ่ม" (Group Thinking Syndrome) ที่เกิดจากคนมาอยู่รวมกันและจะมีอิทธิพลต่อความคิดกัน เดิมอาการนี้ค่อยๆ เกิดขึ้น อาจใช้เวลานานหลายสิบปี ปัจจุบันเครือข่ายสังคมเร่งให้เกิดขึ้นรวดเร็วขึ้น มาพร้อมกับการเกิดตรรกะวิบัติที่มากขึ้น

เมื่อคนมาอยู่รวมกันจะมีอิทธิพลต่อความคิดของกันและกัน ดูฟุตบอลคนเดียว คิดว่าทีมที่เชียร์นั้นฝีมือดี แต่พอไปดูรวมกับพรรคพวก ทีมที่เราว่าของเราว่าดีกลับกลายเป็นทีมกระจอกไปได้ กลุ่มที่เราไปรวมตัวกับพวกเขามีอิทธิพลต่อความคิดของเรามากมายกว่าที่คาดคิดไว้ 

แต่ก่อนการเข้ารวมกลุ่มกระทำเฉพาะในทางกายภาพ คือเจอะเจอกันจริงๆ ถึงจะได้รับอิทธิพลต่อความคิดอ่านของเรา แต่ปัจจุบันนี้ การรวมกลุ่มเกิดขึ้นได้ผ่านเครือข่ายสังคม เราคลุกอยู่กับกลุ่มเกือบจะตลอดเวลา กลุ่มกายภาพแยกย้ายกันไปคนละทางสองทาง อิทธิพลต่อความคิดจางลงไปตามระยะห่าง ตามเวลาที่แยกจากกันไป แต่ถ้าเป็นกลุ่มในเครือข่ายสังคมแล้วดูเหมือนเราไม่เคยแยกจากกลุ่มได้เลย อยู่ที่ไหน เวลาใด ก็ยังอยู่ในกลุ่มได้ อิทธิพลของกลุ่มที่มีต่อความคิดของเราจึงมีแต่คงเดิม หรืออาจเพิ่มขึ้นไปตามเวลา

การที่กลุ่มมีอิทธิพลต่อความคิดของเรานั้น ทราบดีกันมานานแล้วในชื่อที่เรียกกันในวงวิชาการว่า Group Thinking Syndrome แปลให้เข้าใจง่ายๆ ว่าอาการหลงคิดตามกลุ่ม ซึ่งมีผลทั้งทางบวกและทางลบ ทางบวกคือเมื่อคนคิดอะไรตามกันไปหมด เห็นดีเห็นงามตามกันไปหมด การงานก็เดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่ได้บอกว่าการงานที่เสร็จเร็วๆ นั้นจะดีหรือไม่ดี เพียงแต่ลงมือทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีใครมาขัดขวางอะไรเลย ทางลบก็คือไปเสี่ยงในเรื่องที่ไม่ควรจะเสี่ยง เพราะไม่ได้ช่วยกันดูตาม้าตาเรือกันให้ดีก่อนตัดสินใจจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง 

การหลงคิดตามกลุ่ม ทำให้ผู้คนปิดหูปิดตากับสารพัดความเสี่ยงที่ปรากฏอยู่รอบด้าน จากความเชื่อมั่นในกลุ่มของตนเองมากกว่าที่ควรจะเป็น พอเชื่อเหมือนกันทั้งกลุ่ม สิงโตเลยกลายเป็นแมวไปได้ ไปอยู่ใกล้ๆ สิงโต โดยเชื่อมั่นมากเกินไปว่าสิงโตไม่กล้าเล่นงาน เราจึงมักเห็นผู้คนรวมหัวกันคิดอะไรต่อมิอะไรที่เลยเถิดได้เสมอ ยิ่งกลุ่มใหญ่เท่าใด อาการเลยเถิดยิ่งเกิดขึ้นได้ง่าย ซึ่งเครือข่ายสังคมเติมเต็มได้เป็นอย่างดี

ผู้ประสบเคราะห์กรรมในยุคปัจจุบันจาก Group Thinking คือคนที่เข้ากลุ่มในเครือข่ายสังคมแล้ว ความสามารถในการคิดวินิจฉัยตามความเป็นจริงลดน้อยถอยลง พร้อมๆ กับที่มีการเพิ่มขึ้นของตรรกะวิบัติ ความสามารถในการคิดลดลง เช่นวินิจฉัยความเป็นจริงจากข้อมูลสาระที่ได้รับจากกลุ่มอย่างผิวเผิน เลือกหยิบเฉพาะข้อมูลสาระที่กลุ่มพอใจ ละเลยข้อมูลสาระที่เป็นความจริง แต่ไม่สบอารมณ์ของคนในกลุ่ม 

ตรรกะวิบัติคือ ปฏิเสธทุกตรรกะถ้าไม่ถูกใจ แล้วทำตัวเป็นองครักษ์พิทักษ์ความเชื่อของกลุ่ม ใครไม่เชื่อตามกลุ่มก็ไปเล่นงานเขาต่างๆ นานา ซึ่งไม่ใช่เพื่อให้มีข้อยุติในความคิดที่แตกต่างนั้น แต่เป็นการกล่าวร้ายสารพัดต่อคนที่ไม่ยอมคิดตามกลุ่ม ตามมาด้วยการอามาตพยาบาทกับคนมีความคิดต่างไปจากความคิดของกลุ่ม

ที่น่าตกใจคือ แต่เดิมอาการหลงคิดตามกลุ่มค่อยๆ เกิดขึ้น บางกลุ่มใช้เวลานานหลายสิบปี แต่เครือข่ายสังคมเร่งการพัฒนาอาการหลงคิดตามกลุ่มให้เกิดเร็วขึ้นเป็นสิบเป็นร้อยเท่า เรื่องที่เคยใช้เวลาเจ็ดแปดสิบปีสร้างความคิดกลุ่ม อาจเปลี่ยนไปในทางตรงข้ามได้ในหกเจ็ดเดือนเท่านั้น 

เมื่อมีการหลงคิดตามกลุ่มในวันนี้แล้ว กลับถอดถอนได้ลำบากกว่าแต่ก่อนมาก เพราะคนใช้เวลาในกลุ่มมากกว่าแต่ก่อนมากๆ รวมทั้งการโต้แย้งกันผ่านเครือข่ายสังคมกลับเร่งตรรกะวิบัติให้เกิดมากขึ้นในกลุ่ม คือยิ่งทวีคูณจำนวนคนที่ทำตัวเป็นผู้พิทักษ์ความคิดของกลุ่ม ซึ่งจะนำไปสู่เรื่องแย่ๆ อีกมากมายระหว่างคนที่คิดเหมือนกลุ่มกับคนที่คิดต่างจากกลุ่มที่จะตามมา

งานวิจัยหนึ่งบอกไว้อย่างน่าสนใจว่า กลุ่มอายุที่เกิดอาการหลงคิดตามกลุ่มได้มากและเร็ว คือกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มเริ่มสูงอายุ ในขณะที่คนหนุ่มสาวและคนวัยกลางคนจะระวังตัวกับอาการนี้ได้ดีมากกว่าดังนั้น ถ้าเป็น Group Thinking ที่แตกต่างระหว่างกลุ่มวัยรุ่น กับกลุ่มเริ่มสูงอายุ ความขัดแย้งจะแรงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ เพราะขยับไปถึงระดับตรรกะวิบัติได้เร็ว ในจำนวนที่มากกว่า

ถ้าไม่อยากเสี่ยงในเรื่องที่ไม่ควรจะเสี่ยง ก็ให้พยายามหลีกเลี่ยง Group Thinking ไว้ให้ดี แต่ถ้ามีอาการไปแล้ว ก็ขอให้หยุดก่อนที่จะเกิดตรรกะวิบัติ วิกฤติจะจบแค่เป็นเรื่องเล็กๆ