ไม่เลือกเรา ‘ธนาธร’ มาแน่ ปั่นคดีสินบนสกัด ‘ก้าวหน้า’

ไม่เลือกเรา ‘ธนาธร’ มาแน่ ปั่นคดีสินบนสกัด ‘ก้าวหน้า’

การขุดคุ้ย 'สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ' น้องชาย 'ธนาธร' ช่วงโค้งสุดท้ายเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ต่างอะไรกับการสร้างวาทกรรม "ไม่เลือกเรา เขามาแน่" ที่เคยใช้เล่นงานทางการเมืองกันมาแล้ว

หากจะบอกว่า 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' เจอกับเรื่องไม่เป็นเรื่องก็คงไม่ผิดนัก เพราะล่าสุดเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวเองแท้ๆ แต่ก็ยังถูกเชื่อมโยงมาถึงจนได้ ภายหลังเริ่มมีการขุดคุ้ยกรณี 'สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ' น้องชาย 'ธนาธร' อดีตประธานบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เตรียมเช่าที่ดินสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริเวณย่านชิดลม

ประเด็นเริ่มแดงขึ้นมาตรงที่ในคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ลงวันที่ 27 พ.ย.2562 ที่พิพากษาให้นายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ  นายสุรกิจ ตั้งวิทูวนิช มีความผิดตามประมวลกฎหมายฐานใช้เอกสารราชการปลอมและเป็นตัวกลางเรียกรับสินบน และจำคุกเป็นเวลา 3 ปี นั้นมีการระบุตอนหนึ่งว่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :  

"มีการจ่ายเงินให้แก่จำเลยทั้งสองคนเพื่อเป็นการตอบแทนดำเนินการติดต่อประสานงานและนำเงินส่วนหนึ่งไปมอบให้รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าพนักงานของรัฐ ตามกฎหมายโดยวิธีอันทุจริตและผิดกฎหมายเพื่อจูงใจรองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้กระทำการในหน้าที่ด้วยการจัดสรรที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้สิทธิการเช่าที่ดินระยะยาว โดยไม่ต้อผ่านการประมูลแข่งขันตามขั้นตอนปกติ"

จากข้อความในคำพิพากษาตรงนี้เองที่ทำให้เกิดการขยายผลตามมาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเกิดตั้งข้อสังเกตุว่าทำไมพนักงานสอบสวนและอัยการถึงไม่เอาผิดกับ 'สกุลธร' เมื่อมีประเด็นพาดพิงมาถึงสำนักงานอัยการสูงสุด ทำให้เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ทีมโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดต้องออกมาแถลงข่าวชี้แจงเพื่อให้เกิดความกระจ่าง

สาระสำคัญที่ทีมโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พยายามชี้แจงอยู่ที่การระบุว่าคดีนี้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีเพียงแค่สองคนเท่านั้น คือ นายประสิทธิ อภัยพลชาญ อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ นายสุรกิจ ตั้งวิทูวนิช เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้อัยการจึงไม่สามารถดำเนินการใดๆกับ 'สกุลธร' ได้แต่อย่างใด นอกจากนี้ แม้ในคำพิพากษาจะมีการระบุถึงการจ่ายค่าตอบแทนแต่ก็ไม่อาจถือเป็นพยานหลักฐานที่จะรับฟังได้ เพราะตามกฎหมายแล้วพยานหลักฐานที่จะสามารถรับฟังได้จะต้องผ่านการสอบสวนตามกฎหมายเท่านั้น

"ดังนั้น จากกรณีดังกล่าวตามที่มีข่าวออกมาว่าพนักงานอัยการไม่ได้ดำเนินคดีกับนายสกุลธรนั้นเนื่องจากนายสกุลธรไม่ได้เป็นผู้ต้องหา อัยการจึงไม่มีอำนาจสั่งไม่ฟ้องหรือสั่งฟ้องนายสกุลธร นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจ่ายเงินนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากตัวผู้ต้องหาเท่านั้นยังไม่มีการสอบพยานอื่นว่าเป็นความจริงมากน้อยเพียงใดและยังไม่ได้มีการสอบสวนนายสกุลธรว่ามีการจ่ายเงินหรือไม่อย่างไร พนักงานอัยการจึงไม่มีการยื่นฟ้องนายสกุลธร" นายอิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.

ทั้งนี้ ทีมโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดได้ยกกฎหมายมาอ้างอิงถึงสาเหตุที่ยังไม่สามารถดำเนินการกับ 'สกุลธร' ได้ในเวลานี้ เพราะตามหลักกฎหมายแล้วศาลจะพิพากษาตามประเด็นที่มีการฟ้องเท่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งหมายความว่าในเมื่อในชั้นนี้พนักงานสอบสวนไม่สอบสวนน้องชายธนาธร อัยการจึงไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ จึงส่งฟ้องศาลได้เฉพาะผู้ต้องหาสองคน และศาลก็พิพากษาเท่าที่มีการฟ้องขึ้นมาเท่านั้น

เท่ากับว่าแรงเหวี่ยงทั้งหมดจึงตกไปอยู่ที่พนักงานสอบสวนในฐานะที่ได้แสดงความประสงค์จะดำเนินการสอบสวน 'สกุลธร' ว่าจะมีความผิดฐานให้สินบนเจ้าหน้าที่หรือไม่ แต่ไม่ว่าผลแห่งการสอบสวนของพนักงานสอบสวนจะออกมาอย่างไร ปรากฎว่าคดีนี้มีผลโยงมาถึง 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทราบกันดีว่าห้วงเวลาเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นที่ 'คณะก้าวหน้า' เป็นหนึ่งในกลุ่มการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งด้วย ประกอบกับ 'ธนาธร' เป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาสนับสนุนการชุมนุมของคณะราษฎร จึงทำให้เกิดการปล่อยของเหมือนกับที่เคยปล่อยวาทกรรม "ไม่เลือกเรา เขามาแน่" เมื่อครั้งการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2556

มาเวลานี้วาทกรรมที่ว่านั้นได้กลับมาอีกครั้งโดยมี 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' เป็นเป้าหมายทางการเมือง จึงต้องรอดูว่าผลผลิตแห่งวาทกรรม "ไม่เลือกเรา เขามาแน่" จะขวางคณะก้าวหน้าได้มากหรือน้อยเพียงใด