‘อิมแพ็ค’ ลุยฟื้นรายได้ปี 65 โต10% ลุ้นวัคซีนดันไมซ์ต่างชาติคัมแบ็ค ส.ค.64

‘อิมแพ็ค’ ลุยฟื้นรายได้ปี 65 โต10%  ลุ้นวัคซีนดันไมซ์ต่างชาติคัมแบ็ค ส.ค.64

ย้อนไปเมื่อเดือน มี.ค.2563 รัฐบาลออกคำสั่งล็อคดาวน์ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้าซึ่งเป็นสถานที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด-19 ทำให้ “อิมแพ็ค เมืองทองธานี”เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จำต้องปิดให้บริการชั่วคราว3เดือนเต็มๆ จนถึงเดือน มิ.ย.

ก่อนจะประเดิมจัดงานแรก “มิดเยียร์ เซลล์” เมื่อประเทศไทยสามารถหยุดการแพร่ระบาดภายในประเทศ ตามด้วยไฮไลต์อย่าง “แบ็งค็อก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์” ที่เลื่อนจากกำหนดเดิมเดือน มี.ค. มาจัดในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาหลังรัฐประกาศคลายล็อกดาวน์

“ใครจะไปนึกว่าวิกฤตินี้จะยาวนานถึง 9 เดือนแล้ว” พอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฉายความในใจถึงวิกฤติโควิดที่ยาวนานกินเวลาร่วมปี ทั้งที่ก่อนหน้านี้กำลังชื่นชมกับความสำเร็จของการจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำ “อาเซียน ซัมมิต” (ASEAN Summit) เมื่อเดือน พ.ย.2562 และมีงานหลั่งไหลเข้ามาจัดที่อิมแพ็คฯอย่างต่อเนื่อง

โดยหลังจากเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดมา สิ่งหนึ่งที่อิมแพ็คฯพบคือวิกฤติโควิดไม่สามารถดิสรัปตลาดการจัดแสดงสินค้า (Exhibition) ให้มุ่งหน้าสู่สังเวียนออนไลน์ได้ทั้งหมด

“การจัดแสดงสินค้าแบบออนไลน์ไม่สามารถเข้ามาเทคโอเวอร์การจัดแสดงสินค้าแบบออฟไลน์ได้ทั้งหมด หลังจากมีการคุยถึงเรื่องเทคโนโลยีจะเข้ามาดิสรัปตลาดนี้มานานเป็น 10 ปี เพราะสุดท้ายแล้วคนยังต้องการเดินทางมาชมด้วยตา มาจับต้องสินค้าด้วยมืออยู่ ออนไลน์ไม่สามารถทดแทนได้ ต่างจากตลาดการจัดประชุมที่สามารถจัดแบบไฮบริดผสมกับออนไลน์ได้”

เมื่อเจาะภาพรวมธุรกิจของอิมแพ็คฯในปี 2563 พอลล์ เปิดเผยว่า มียอดจองพื้นที่จัดงาน 608 งาน ลดลงถึง 417 งาน ติดลบ 41% เมื่อเทียบกับยอดจองพื้นที่จัดงาน 1,025 งานของปี 2562 ซึ่งเป็นปีปกติที่ยังไม่เจอวิกฤติโควิด โดยงานประเภทท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) ยกเลิกการจัดงานทั้งหมด ส่วนงานประเภทจัดแสดงสินค้าบางงานยังสามารถจัดได้ แต่ก็มีการลดขนาดงานลง เช่น THAIFEX

แน่นอนว่ากุญแจหลักตอนนี้หนีไม่พ้นเรื่อง “วัคซีน” หากการฉีดวัคซีนเห็นผลดี ก็จะช่วยฟื้นความมั่นใจด้านการเดินทางของตลาดการจัดประชุม ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และจัดแสดงสินค้า (MICE : ไมซ์) จากต่างประเทศ ซึ่งในกรณีเลวร้ายที่สุดคาดว่านักเดินทางไมซ์ต่างชาติจะสามารถเดินทางเข้ามาได้แบบไม่ต้องกักตัวราวเดือน ส.ค.-ก.ย.2564 เป็นต้นไป

แม้ช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จะยังไม่มีรายได้จากตลาดไมซ์ต่างประเทศ ต่างจากปี 2562 ซึ่งมียอดการจัดงานจากลูกค้าต่างประเทศ 10% แต่เนื่องจากอิมแพ็คฯมีรายได้หลักจากตลาดจัดแสดงสินค้า และเป็นฐานลูกค้าในประเทศมากถึง 90% จึงคาดว่าปีหน้าจะฟื้นตัวกลับมาที่ 90% ของปี 2562 ด้วยเป้าหมายจำนวนการจัดงานเกิน 1,000 งานไล่ตั้งแต่งานเล็กไปจนถึงงานใหญ่ ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยของปีปกติ

หลังจากปัจจุบันกลับมาแล้ว 80-90% โดยทางลูกค้าผู้จัดงานก็มีขอความช่วยเหลือเข้ามา เช่น ขอไม่ให้ทางอิมแพ็คฯขึ้นค่าเช่าพื้นที่ ซึ่งทางอิมแพ็คฯก็ช่วยยืนราคาให้ และมอบความยืดหยุ่นให้ลูกค้า ขณะที่แนวโน้มของงานที่เข้ามาจัดในอิมแพ็คฯ พบว่างานคอนซูเมอร์แฟร์มีขนาดเล็กลง ส่วนงานจัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่ยังคงขนาดงานเท่าเดิม

“บริษัทฯคาดการณ์ว่ารายได้ปี 2565 จะเติบโต 10% เมื่อเทียบกับปี 2562 เพราะในอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ตรงเข้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี ช่วยเพิ่มกระแสทราฟฟิกเข้าอิมแพ็คฯมากขึ้น”

ทั้งนี้ “กลุ่มบางกอกแลนด์” ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของอิมแพ็คฯเตรียมงบฯลงทุน 1,250 ล้านบาทในช่วง 3 ปีนับจากนี้ สำหรับก่อสร้างตัวระบบรางและสถานีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูจำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีอิมแพ็ค ตั้งอยู่ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1 และสถานีบิ๊กเลค (Big Lake) ริมทะเลสาบเมืองทองฯ

นอกจากนี้ยังเตรียมงบฯ 200 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างพื้นที่เชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าสถานีอิมแพ็คให้เป็น “ล็อบบี้” ขนาดใหญ่รองรับผู้เข้าชมงาน แต่ต้องขึ้นกับความเห็นชอบของที่ประชุม “อิมแพ็ค โกรท รีท” ในเดือน ก.ค.2564 ด้วย

ส่วนพื้นที่ทะเลสาบเมืองทองธานีซึ่งมีพื้นที่รวมกว่า 300 ไร่ ขณะนี้กลุ่มบางกอกแลนด์มองไว้หลายทางเลือกในการพัฒนา เบื้องต้นกำลังศึกษาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (มิกซ์ยูส) อาจจะมีส่วนผสมของชอปปิงมอลล์ อาคารสำนักงาน และอาคารจัดแสดงสินค้าเพิ่มเติมตามความเหมาะสม โดยอาจร่วมมือกับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอสังหาฯด้านนั้นๆ