WP ชงบอร์ดธ.ค.นี้ ไฟเขียวซื้อโรงซ่อมถัง LPG

WP ชงบอร์ดธ.ค.นี้ ไฟเขียวซื้อโรงซ่อมถัง LPG

“ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่” จ่อชงบอร์ดกลางเดือนธ.ค.นี้ ไฟเขียวงบราว 100 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการโรงงานซ่อมและผลิตถังก๊าซ หวังประหยัดค่าซ่อมชิงฐานลูกค้าครัวเรือน

นายนพวงศ์ โอมาธิกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ WP เปิดเผยว่า บริษัท มีแผนจะใช้งบประมาณราว 100 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อกิจการโรงงานซ่อมและผลิตถังก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) หรือ ก๊าซหุงต้ม คาดว่า จะเตรียมนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด) พิจารณาได้ภายในกลางเดือน ธ.ค.นี้

โดยโรงงานซ่อมถังก๊าซ LPG ดังกล่าว ปัจจุบันมีกำลังการผลิต อยู่ที่ประมาณ 3-4 แสนใบต่อปี ซึ่งจะเพียงพอกับต่อความต้องการใช้ของบริษัท และช่วยให้ประหยัดค่าซ่อมถังต่อปีได้ประมาณ 10 ล้านบาท อีกทั้งหากรวมค่าซ่อมและซื้อถังของบริษัท จะอยู่ที่ประมาณ 60 ล้านบาทต่อปี

“การเข้าซื้อโรงงานซ่อมถังLPG นอกจากจะช่วยให้บริษัท ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแล้ว และเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรจุก๊าซฯ ป้อนความต้องการของลูกค้าได้เพิ่มขึ้น อีกทั้ง บริษัทยังมองไปถึงโอกาสขยายการเติบโตในอนาคต โดยมีแผนขยายกำลังการผลิตถังก๊าซ LPG เพื่อจำหน่ายในต่างประเทศต่อไป ซึ่งในระยะเริ่มต้น ก็คงเจาะกลุ่มลูกค้าขนาดเล็กก่อน”

160751256145

อย่างไรก็ตาม การขยายกำลังการผลิตโรงงานซ่อมและผลิตถังก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) หรือ ก๊าซหุงต้ม ดังกล่าว ในเฟสที่ 2 จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดต่างๆให้ชัดเจนก่อน คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาได้ภายใน 5-6 เดือน แต่การลงทุนคงไม่ใช่ภายใน 1-2 ปีนี้ เพราะต้องรอให้ความต้องการใช้ถัง LPG ของบริษัท เติบโตขึ้นเป็นเท่าตัวด้วย ซึ่งในอนาคตพบว่า บริษัทยังมีความต้องการใช้ถัง LPG เพิ่มขึ้นแน่ แต่คงไม่ใช่ระยะสั้นนี้

ก่อนหน้านี้ WP ตั้งเป้าหมายยอดขายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ปี 2564 ไว้ที่ 8 แสนตัน ฟื้นตัวขึ้นจากปีนี้ ที่คาดว่า จะอยู่ในระดับ 7.4-7.5 แสนตัน ลดลงจากปีก่อนที่มีปริมาณการขายอยู่ที่ 7.7 แสนตัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

นายนพวงศ์ กล่าวว่าอีกว่า บริษัท ยังสนใจลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน เช่น การติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ซึ่งอาจจะทำในรูปแบบ Energy Solution โดยบริษัท ได้จับมือกับพันธมิตรที่เป็นผู้รับเหมาติดตั้ง (EPC) ศึกษาโอกาสการลงทุนร่วมกัน คาดว่า จะมีความชัดเจนภายในปี 2564 เบื้องต้น กลุ่มเป้าหมายหลัก จะเป็นโรงงานขนาดเล็ก และขนาดกลาง ที่เป็นลูกค้าเดิมของบริษัท

160751258817

สำหรับงบลงทุนในธุรกิจใช้บริการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป จะอยู่ในงบสำรองของบริษัท ในปี 2564 ซึ่งตั้งไว้ประมาณ 100 ล้านบาท จากงบลงทุนรวมปี 2564 อยู่ที่ 450-550 ล้านบาท โดยงบลงทุนส่วนใหญ่ในปี 2564 ยังคงเป็นการใช้ขยายธุรกิจ LPG ทั้งในส่วนของสถานีบริการ(ปั๊ม) LPG โรงบรรจุก๊าซ การลงทุนขยายจุดกระจายสินค้า การซื้อกิจการโรงซ่อมและผลิตถังก๊าซ ตลอดจนการขยายธุรกิจอาหาร อีกประมาณ 50 ล้านบาท

ปัจจุบัน WP มีคลังเก็บและจ่ายก๊าซ ทั้งหมด 5 แห่งทั่วประเทศ ความจุรวม 18,341 ตัน ประกอบด้วย 1.คลังเก็บและจ่ายก๊าซบางปะกง (ฉะเชิงเทรา) ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออก ความจุ 13,015 ตัน 2.คลังเก็บและจ่ายก๊าซบางจะเกร็ง (สมุทรสงคราม) ครอบคลุมพื้นที่ภาคตกวันตกและภาคใต้ตอนบน ความจุ 1,800 ตัน 3.คลังเก็บและจ่ายก๊าซขอนแก่น ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ความจุ 1,980 ตัน 4.คลังเก็บและจ่ายก๊าซลำปาง ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ความจุ 186 ตัน และ 5.คลังเก็บและจ่ายก๊าซพิจิตร ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ความจุ 1,360 ตัน