จิตรกรรมฝาผนัง ‘พระมหาชนก’ วัดราชผาติการาม จากพระราชนิพนธ์'ในหลวง ร.9'

จิตรกรรมฝาผนัง ‘พระมหาชนก’ วัดราชผาติการาม จากพระราชนิพนธ์'ในหลวง ร.9'

เที่ยววัด ดูความงามของจิตรกรรมฝาผนัง"พระมหาชนก" ในวัดที่มีศิลปะแบบจีนผสมญวน และกราบไหว้หลวงพ่อสุก พระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธรูปล้านช้างที่งดงามยิ่งกว่าพระพุทธรูปองค์อื่น

ก่อนจะเล่าถึงจิตรกรรมฝาผนังพระมหาชนกอันงดงาม คงต้องเล่าถึงความเป็นมาของวัดราชผาติการาม ถนนราชวิถี เชิงสะพานกรุงธนฯ สักนิด

ว่ากันว่า วัดราชผาติการาม เป็นวัดที่มีความสำคัญในหลายรัชกาล เป็นวัดที่พระราชาทรงผาติกรรม หรือทำให้เจริญขึ้น ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2379 จึงผ่านมาหลายยุคหลายสมัย

วัดแห่งนี้ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นวัด 3 กรุง สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในบริเวณชุมชนบ้านญวนสามเสนหรือด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดในปัจจุบัน กระทั่งเข้าสู่ยุคกรุงธนบุรี อาณาเขตพระนครขยายครอบคลุมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา วัดแห่งนี้จึงตั้งอยู่นอกกำแพงพระนครฝั่งตะวันออกด้านทิศเหนือในบริเวณพื้นที่เกษตรนอกเมือง

จนมาถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ มีการย้ายพระนครจากกรุงธนบุรีมาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามต่างๆ และวัดแห่งนี้ได้มีการบูรณะในหลายรัชกาล

160726323148  

(จักรวาลไตรภูมิ ตามคติในพุทธศาสนา จิตรกรรมฝาผนังหลังหลวงพ่อสุก พระประธานที่งดงามมากในพระอุโบสถ)       

พระอุโบสถวัด สร้างด้วยสถาปัตยกรรม”นอกอย่าง” ตามแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ 3 ผสมผสานศิลปะแบบจีนและญวน ภายในพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน ผนังด้านหลัง"หลวงพ่อสุก' พระประธาน เป็นภาพจักรวาลไตรภูมิตามคติในพุทธศาสนา

ส่วนผนังด้านสกัดฝั่งตรงข้าม เป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ และผนังด้านซ้ายและขวาเป็นภาพจิตรกรรมเล่าเรื่อง  มหาชนกชาดก ผสานไปกับบทพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงได้รับแรงบันดาลพระราชหฤทัยในการทรงพระราชนิพนธ์จากที่ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนามหาชนกชาดก จากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดรูปที่ 12 เมื่อปีพ.ศ. 2520

160726337520

(จิตรกรรมฝาผนัง : ตอนพระมหาชนกยังอยู่ในพระครรภ์พระเทวี นางไปขอความช่วยเหลือพราหมณ์ทิศาปาโมกข์ )

ในช่วง ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา (วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ) กรมศิลปากร และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ร่วมกันทำโครงการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามวัดราชผาติการาม ซึ่งทรุดโทรมตามกาลเวลา

ในปีนั้นในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ เรื่องพระมหาชนก จากบทพระราชนิพนธ์ รวมถึงพระราชทานพระราชทรัพย์ในการซ่อมแซมฉัตรขาว 7 ชั้นที่กางกั้นหลวงพ่อสุก พระประธานภายในพระอุโบสถ

มหาชนกเป็นชาดกเรื่องหนึ่งที่นิยมนำมาสร้างงานศิลปกรรม โดยเฉพาะงานจิตรกรรมฝาผนังในหลายๆ วัดอาทิ ภายในกรุพระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ ทำตามแบบศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ฯลฯ ส่วนสมัยรัตนโกสินทร์ ปรากฏจิตรกรรมฝาผนังมหาชนกชาดกที่พระอุโบสถวัดสุวรรณาราม ,พระอุโบสถวัดคงคาราม และพระอุโบสถวัดราชผาติการาม

ในพระอุโบสถแห่งนี้ จิตรกรรมชุดพระมหาชนก กลุ่มจิตรกรไทย นำโดยจำนง รัตนกูล เป็นผู้เขียนภาพตามท้องเรื่องที่ปรากฏในมหาชนกชาดก จำนวน 10 ชุด ชุดละ 3 ภาพ  โดยประมวลภาพมหาชนกชาดกทั้งหมดไว้ในภาพเดียวกัน ขนาด 1.50 เมตร ผสมผสานเทคโนโลยีและวิทยาการร่วมสมัย แต่คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ศิลปกรรมรูปแบบดั้งเดิม

160726340153

(ฝ้าเพดานภายในพระอุโบสถ ทาพื้นแดง เขียนภาพดาวเพดานกระบวนจีน )

ในวัดราชผาติการาม นอกจากจิตรกรรมฝาผนังพระมหาชนกสองด้าน, ภาพจักรวาลไตรภูมิ และภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ที่มีความโดดเด่นแล้ว

ฝ้าเพดานภายในพระอุโบสถทาด้วยพื้นสีแดง เขียนภาพดาวเพดานกระบวนจีน ดวงกลางเป็นภาพหงส์ ดวงบริวารเป็นภาพผีเสื้อ ผูกเป็นลายเกลียว ซึ่งเป็นภาพสัญลักษณ์มงคลตามคติความเชื่อของจีน โดยการวาดลวดลายแบบนี้เป็นแบบอย่างให้นักศึกษาจิตรกรรมไทยมาเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ

160726343422

(ภายในพระอุโบสถวัด)

ศิลปะที่งดงามและโดดเด่นที่ต้องกล่าวถึงอีกอย่างคือ หลวงพ่อสุก  พระพุทธรูปหล่อสำริด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญมาเป็นพระประธานในพระอุโบสถ เมื่อแรกสร้างพระอาราม

ว่ากันว่า พระเกศ พระพักตร์ รูปทรง และฐานของหลวงพ่อสุก มีลักษณะคล้ายกับ “พระใส” ที่วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย และ”พระเสริม” วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ ทำให้เรียกพระพุทธรูปชุดนี้ถูกเรียกว่า พระเชียงแสนเวียงจันทร์  ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีความงดงามและสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์

160726346843

(วัดราชผาติการาม ศิลปะแบบจีนผสมญวน)

160726361718

(จิตรกรรมตอนที่สีวลีเทวี ปรึกษากับอำมาตย์ถึงผู้ที่สมควรได้รับราชสมบัติ )

และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ พระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่บนผนังด้านหลังพระอุโบสถ  โดยสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นพระบรมอัฐที่พระบรมราชวงศ์ได้รับพระราชทานสืบต่อมาจนถึงทายาทในราชสกุล เมื่อมีการบูรณะครั้งใหญ่ ปี 251ุ6-2517 จึงได้เชิญมาประดิษฐานในวัดราชผาติการาม และถือว่าเป็นพระอารามหลวงแห่งเดียวที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิทั้งสองพระองค์ 

160730960052

(ที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

...............

หมายเหตุ : จากการร่วมกิจกรรมทริปยลศิลป์สยาม งานช่างฝรั่งผสมไทยในแดนสยาม ของชมรม KTC PR Press Club บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด และข้อมูลบางส่วนจากหนังสือราชผาติกานุสรณ์ โครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชผาติการาม