สร้างฐานข้อมูลสมุนไพร หนุนเครื่องสำอางสู่ตลาดโลก

สร้างฐานข้อมูลสมุนไพร  หนุนเครื่องสำอางสู่ตลาดโลก

ปัจจุบันไทยมีฐานข้อมูลสมุนไพรที่ใช้ทำเครื่องสำอาง เพียง 1 ฐานข้อมูล คือ ฐานข้อมูลสมุนไพร ไทยที่ใช้ทางเครื่องสำอาง (Thai Medicinal Plants for Cosmetics Database;TMPCD)ของกลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ทว่าด้วยความต้องการของการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรจำนวนมาก และการจะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรได้นั้นจะต้องมีแหล่งข้อมูลที่มีน่าเชื่อถือเกี่ยวกับสมุนไพรที่ต้องการนำมาใช้ประโยชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับภายนอก

วันนี้ (4 ..2563) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติและธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ร่วมกับอย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันพัฒนา "ฐานข้อมูลสมุนไพรเพื่อการใช้ประโยชน์ทางเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับใช้ภายนอก โดยจะเริ่มเปิดให้ทดลองในปลายปี 2564

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. กล่าวว่าสวทช.มีภารกิจหลักในการพัฒนาเทคโนโลยี และสร้างองค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์ผ่านงานวิจัยต่างๆ และมุ่งเน้นการทำงานเชิงบูรณาการกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งความร่วมมือทั้ง 4 หน่วยงานครั้งนี้ จะเป็นการมีคิดค้นผลงานที่มีการนำพืชสมุนไพรมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้น โดยใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยี นวัตกรรมขั้นสูงมาใช้ รวมถึงจะมีการกำหนดกลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมายด้านเวชสำอาง โปรแกรมวิจัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่พัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ และจัดทำเป็นฐานข้อมูลกลางสำหรับผู้ประกอบการด้านเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับใช้ภายนอก

"ตอนนี้ตลาดสมุนไพรเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับใช้ภายนอก สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ 100 กว่าล้านบาท และไทยมีตลาดสมุนไพรจำนวนมาก ดังนั้น การสร้างฐานข้อมูลสมุนไพรในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง อันนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรไทย"

"โครงการพัฒนาฐานข้อมูลสมุนไพรเพื่อการใช้ประโยชน์ทางเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับใช้ภายนอก จะเป็นการพัฒนาฐานข้อมูลสมุนไพรเพื่อการใช้ประโยชน์ทางเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับใช้ภายนอก ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งในส่วนข้อมูลและรูปแบบการใช้งาน มีการคัดเลือกและกำหนดพืชสมุนไพรเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

สำหรับโครงการในระยะที่ 1 นี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปี 2564-2568) โดยปี2564 จะเป็นการเริ่มต้นสร้างฐานข้อมูลพืชสมุนไพรเป้าหมายจำนวนไม่น้อยกว่า 50 ชนิด ที่พร้อมให้บริการและจะเพิ่มจำนวนขึ้นในปีถัดไป โดยตัวอย่างพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในฐานข้อมูลได้ แก่ กระชายดำ ไพล ขมิ้นชัน บัวบก เป็นต้น โดยพืชทั้ง 4  ชนิด ซึ่งได้มีการกำหนดเป็น Product Champions ของประเทศ ตั้งเป้ามีข้อมูลพืชสมุนไพรไม่น้อยกว่า 1,000 ชนิด ภายในปี 2568 หรือเมื่อสิ้นสุดโครงการในระยะที่ 1

ฐานข้อมูลสมุนไพรเพื่อการใช้ประโยชน์ทางเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับใช้ภายนอก ในระยะแรก (เฟสที่ 1: 2564-2568) จะเป็นข้อมูลทั่วไปที่รวบรวมข้อมูลที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ อาทิ ชื่อพืช การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ส่วนที่ใช้ สรรพคุณและการใช้สมุนไพรพื้นบ้านตามภูมิปัญญาไทย การสกัด แยกและตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ของสารสำคัญ การวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ สารสำคัญในสมุนไพร ประโยชน์ทางเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สมุนไพร การศึกษาทางพิษวิทยาและความปลอดภัย ข้อห้ามใช้และข้อควรระวัง อาการไม่พึงประสงค์ ผลงานวิจัย และเอกสารอ้างอิง ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียน ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข้อบังคับ/กฎหมายที่กำกับดูแลของสมุนไพรที่มีศักยภาพด้านเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทยอย่างน้อย 50 ชนิด

ในระยะต่อไป จะเป็นข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญของสมุนไพรในด้านข้อมูลลำดับนิวคลีโอไทด์(Whole-genomesequence) ความหลากหลายทางพันธุกรรม ชนิด สายพันธุ์ พันธุ์ดีเด่น พร้อมข้อมูลการนำไปใช้ประโยชน์ทางการผลิต และการใช้ประโยชน์ทางเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น ลักษณะการเกษตร การเจริญเติบโต ผลผลิต สารพฤกษเคมี (Phytochemical profile) และผลการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ (Bioassay) รวมทั้ง ข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างกลไกของของสาระสำคัญจากสมุนไพรที่มีต่อเซลล์และร่างกาย

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา อย.ได้จัดทำฐานข้อมูลสมุนไพรไทยที่ใช้ทางเครื่องสําอาง หรือ THAI MEDICINAL PLANTS FOR COSMETICS DATABASE ประกอบไปด้วยสมุนไพร 340 ชนิด ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับ เอกลักษณ์ต่างๆ ของสมุนไพร ส่วนที่ใช้และการนำไปใช้ทางเครื่องสำอาง ที่ผู้ประกอบการหรือผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลของสมุนไพรแต่ละตัวได้  โดยอาจต่อยอดพัฒนาเป็นเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ภายนอก เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพ และทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัย

ในขณะเดียวกัน การพัฒนาฐานข้อมูลสมุนไพรเพื่อการใช้ประโยชน์ทางเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับใช้ภายนอก ร่วมกับพันธมิตรอีก 3 หน่วยงานนี้ ขอบเขตความร่วมมือและบทบาทของ อย. ในความร่วมมือนี้ จะร่วมพัฒนาและสนับสนุนฐานข้อมูลพืชสมุนไพรด้านสรรพคุณและหน้าที่สารออกฤทธิ์สำคัญ (Functional & health claims) ของสมุนไพรสำหรับใช้เป็นข้อกำหนดในการตรวจสอบเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับใช้ภายนอก และเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเชื่อว่า ความร่วมมือนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ผู้ผลิตเครื่องสำอาง และผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการพัฒนาสมุนไพรสู่นวัตกรรมด้านเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ภายนอกอย่างยั่งยืน

นพ. พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความยินดีที่จะร่วมพัฒนาฐานข้อมูลสมุนไพรเพื่อการใช้ประโยชน์ทางเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับใช้ภายนอก เพื่อความสะดวกและเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลที่สำคัญของสมุนไพรโดยเป็นข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัย ผู้ประกอบการ และประชาชนที่สนใจ อันจะส่งผลให้เกิดการผลักดันการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสมุนไพรเพื่อเพิ่มมูลค่าของสมุนไพร เป็นการเพิ่มโอกาสให้สมุนไพรไทยสามารถเข้าแข่งขันในเวทีการค้าระดับโลกได้

รศ. ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทางคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสำนักงานข้อมูลสมุนไพร มีพันธกิจหลักในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลต่างๆ เพื่อรักษามรดกทางความรู้ด้านสมุนไพรและให้บริการข้อมูลสมุนไพรให้กับหน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาองค์ความรู้และการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการขยายฐานข้อมูลครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ที่มีโอกาสส่งผลให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของสมุนไพรไทย และนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศไทยตามแนวทางที่รัฐบาลตั้งเป็นจุดมุ่งหนึ่งของการพัฒนาประเทศ สมุนไพรไทยจำนวนมาก มีฤทธิ์ที่สามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางได้อย่างหลากหลายสรรพคุณ ไม่แพ้สมุนไพรจากแหล่งอื่นๆ ของโลก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลมีความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในภาระกิจที่สำคัญครั้งนี้ และให้ความสำคัญกับการผลักดันโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาวงการสมุนไพรและเครื่องสำอางของเป็นอย่างดี