'อธิรัฐ' ดันสมาร์ท คอมมูนิตี้ คลองเตย ย้ำตอกเสาเข็มปี 66

'อธิรัฐ' ดันสมาร์ท คอมมูนิตี้ คลองเตย ย้ำตอกเสาเข็มปี 66

“อธิรัฐ” เร่ง กทท.ดันโครงการ “สมาร์ท คอมมูนิตี้” พื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย คลอดแบบก่อสร้างก่อนกำหนด 6 เดือน หวังตอกเสาเข็มต้นแรกภายในปี 2566

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) โดยระบุว่า ตนได้มอบนโยบายให้ ทกท. เร่งพัฒนาเป็นท่าเรืออัตโนมัติในโครงการ Smart Port พร้อมเป็นท่าเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือท่าเรือสีเขียว (Green Port)  และกวดขันการให้เป็นท่าเรือสีขาว ที่ปลอดสิ่งผิดกฎหมายและยาเสพติด

อย่างไรก็ดี การติดตามความคืบหน้าในครั้งนี้ ได้ทราบถึงความคืบหน้าของโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย Smart Community ที่ ทกท.อยู่ระหว่างลงสำรวจพื้นที่และประชากรในชุมชนคลองเตย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2564 ขณะเดียวกัน ยังเริ่มดำเนินการออกแบบโครงการในเบื้องต้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือน ส.ค.2564 และมีเป้าหมายตอกเสาเข็มต้นแรกในปี 2566

“ตอนนี้ผมได้สั่งการให้การท่าเรือฯ เร่งเข้าไปสำรวจประชากรในชุมชนคลองเตย และแจ้งให้ทราบถึงแนวทางเยียวยาในคนพื้นที่ ซึ่งมีอยู่ 3 ทางเลือก โดยขณะนี้การท่าเรือฯ มีแผนจะสำรวจประชากรให้แล้วเสร็จในช่วงต้นปีหน้า เพราะที่ผ่านมาติดโควิด -19 ผมก็ขอให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว และให้ทำคู่ขนานไปกับการออกแบบดีเทลดีไซด์ ตามเป้าหมายจะเสร็จ ส.ค.2564 ขอให้เร่งรัดเสร็จเร็วกว่าแผน 6 เดือน”

160707042235

นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้ กทท. เร่งจัดทำแผนเพิ่มรายได้ท่าเรือภูมิภาค โดยให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจที่นอกเหนือจากการขนส่งทางน้ำ เช่น การท่องเที่ยว โดยให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการ ในเบื้องต้นได้จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนในการพัฒนาท่าเรือเชียงแสน และท่าเรือเชียงของ

ส่วนนโยบายการบริหารงานท่าเรือกรุงเทพในปี 2564 ได้เร่งรัดให้ ทกท.นำเอานวัตกรรมมาใช้ในการให้บริการ โดยให้มีท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เป็นประตู หรือ Gateway รองรับเรือขนาดใหญ่ และให้ ทกท. เป็นศูนย์สนับสนุนการขนส่งสินค้าในรูปแบบ Shift Mode รวมทั้ง เร่งพัฒนาให้ท่าเรือกรุงเทพเป็นศูนย์กระจายสินค้าของกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ และสนับสนุนภาคเอกชน เชื่อมโยงการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ให้มากยิ่งขึ้น

สำหรับโครงการลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ในชุมชนคลองเตย (Smart Community) มีการประมาณการณ์วงเงินอยู่ที่ 7,500 ล้านบาท บนพื้นที่ 58 ไร่ โดยจะก่อสร้างเป็นอาคารพักอาศัยสูง 25 ชั้น 4 อาคาร รวม 6,144 ยูนิต ขณะที่ 3 ทางเลือกที่จะเสนอให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย ประกอบด้วย 1.การย้ายขึ้นอาคารสูงในพื้นที่องค์การฟองหนัง (เดิม) ในรูปแบบของอาคารชุด 2.การย้ายไปพื้นที่ว่างเปล่า ย่านหนองจอก และ 3.การรับเงินชดเชยเพื่อกลับภูมิลำเนา โดยจะให้ได้รับมูลค่าหรือสิทธิประโยชน์ในวงเงินที่เหมาะสมและเสมอภาคกัน