"โฆษกกมธ.ประชามติ" จ่อแก้ร่างพ.ร.บ.ประชามติ คำนึงความเป็นประชาธิปไตย-เปิดกว้างให้ทุกฝ่าย

"โฆษกกมธ.ประชามติ" จ่อแก้ร่างพ.ร.บ.ประชามติ คำนึงความเป็นประชาธิปไตย-เปิดกว้างให้ทุกฝ่าย

กมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ วางเป้าหมายทำเนื้อหาร่างกฎหมาย ต้องเปิดกว้าง - อุดช่องว่าง สร้างบรรยากาศประชาธิปไตย เตรียมเชิญ กกต., นักวิชาการให้ความเห็น คาดวันออกเสียงประชามติ ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน64

     นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ..... รัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการทำงานของกมธ. ว่าในที่ประชุมกมธ. นัดแรก ได้วางเป้าหมายการทำเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ประชามติเพื่อขจัดข้อครหาและข้อกังวลตามที่สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายไว้ในที่ประชุมวันรับหลักการ ทั้งการจับกุม, การข่มขู่คุกคามผู้รณรงค์ในการออกเสียงประชามติเมื่อ วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2559 ทั้งนี้กมธ.ต้องการทำกฎหมายเพื่อให้การออกเสียงประชามติที่จะเกิดขึ้นเป็นบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด  โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้รณรงค์ความคิดอย่างเปิดเผย และทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ ไม่ใช่เหมารวม

     “ร่างพ.ร.บ.ประชามติ ถือเป็นกฎหมายคู่ขนานกับ ร่างแก้ไขรัธรรมนูญ จึงมีความสำคัญ เบื้องต้นกมธ. คาดว่าการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม หรือ เดือนเมษายน 2564  ดังนั้นกมธ.ต้องเร่งทำกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน โดยเบื้องต้นได้นำคำอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาพิจารณาและกำหนดประเด็น เพื่อขจัดข้อวิจารณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้การออกเสียงประชามติที่จะเกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาของบ้านเมือง” นายวันชัย กล่าว

       นายวันชัย กล่าวด้วยว่าในการประชุมนัดหน้า กมธ.ฯ จะเชิญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), สถาบันพระปกเกล้า, นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการทำประชามติให้ความเห็นและถกแถลงในที่ประชุมกมธ. ก่อนที่จะลงรายละเอียดของเนื้อหาร่างกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อรอคำแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภาที่จะยื่นต่อกมธ. ซึ่งจะครบกำหนดยื่นคำแปรญัตติในช่วงวันที่ 17 - 18 ธันวาคมนี้.