‘บ้านบางโรง’ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

การลงพื้นที่ ครม.สัญจร จ.ภูเก็ตเมื่อเร็วๆนี้มูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ พาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ชุมชนบ้านบางโรง หมู่ที่ 3 ต.ป่าคลอง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ตัวอย่างหนึ่งของชุมชนที่ดำรงความเข้มแข็งได้ด้วยการที่ผู้นำยึดมั่นในหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีนี้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจสังคม หลายจังหวัดที่เคยพึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโดยตรง จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงตั้งแต่ต้นปีรายได้จากการท่องเที่ยวลดลงมากกว่า 2 แสนล้านบาท

กิจการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในจังหวัดมีการปิดกิจการเป็นจำนวนมากแรงงานส่วนหนึ่งที่เคยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวปรับเปลี่ยนอาชีพ กลับสู่ชุมชนใช้ฐานทรัพยากรและความเข้มแข็งของชุมชนที่สั่งสมมาจากการใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์เข้ากับชีวิตปัจจุบันรองรับวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้น 

 “เสบ เกิดทรัพย์” ผู้จัดการกลุ่มออมทรัพย์อัลอามานะห์ ชุมชนบ้านบางโรง หมู่ที่ 3 ต.ป่าคลอง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ผู้นำชุมชนเล่าว่าในช่วงที่การท่องเที่ยวในภูเก็ตซบเซาคนในชุมชนบ้านบางโรงที่เคยทำงานที่โรงแรม บริษัททัวร์ หรือขับรถตู้รับนักท่องเที่ยว กลับมาสู่ชุมชนมากขึ้นกลับมาใช้ชีวิตแบบประมงพื้นบ้านออกเรือจับปลา หาสัตว์น้ำ สร้างรายได้เฉลี่ยวันละ 2,000 - 3,000 บาท

ผู้นำชุมชนเล่าว่ากว่าที่บางโรงจะมีความอุดมสมบูรณ์ มีป่าชายเลนที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และมีสหกรณ์ชุมชนที่มีการแบ่งกลุ่มสร้างรายได้ทั้งร้านอาหารชุมชน และโฮมสเตย์สร้างรายได้ให้ชุมชนได้แบบในปัจจุบัน ในอดีตชุมชนเคยเผชิญปัญหาที่หลากหลายทั้งการสูญเสียที่ดิน การบุกรุกป่าชายเลนเพื่อขายที่ดิน และทำนำบ่อกุ้ง ซึ่งการสูญเสียทรัพยากรในอดีตทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชุมชนอย่างมาก เขาจึงเริ่มศึกษาอย่างจริงจังว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนกลับมาอุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรที่เพียงพอให้กับคนในชุมชน 

เขามีโอกาสได้เข้าอบรมความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในช่วงปี  2542 - 2543 และไปดูงานโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 หลายโครงการโดยเฉพาะโครงการต้นแบบที่สวนจิตรดา ก็เริ่มคิดว่าแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้นต่างชาติเอาไปใช้แล้วก็พัฒนาชุมชนได้ทำไมเราไม่เอาไปปรับใช้ในชุมชนเราบ้าง 

160704771473

 

"เมื่อนำเอาความรู้ที่ได้มาคิดทบทวนก็เห็นว่าหลักการเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกันกับหลักศาสนาอิสลามคือมือนึงทำไม่ได้คิดว่ามือนั้นต้องได้แต่จะได้อีกมือนึงหรือมืออื่นๆ ได้ประโยชน์ ผมจึงเอามาปรับใช้กับชุมชนที่นี่ที่เป็นชุมชนมุสลิมได้ ในหลวงท่านไม่ได้บอกว่าให้ทำแบบนี้แบบนั้น แต่พระองค์ให้แบบวงกว้าง ให้เอาไปปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ พระองค์ให้หลักคิด เป็นการอนุรักษ์เพื่อกินเพื่อใช้ จึงได้ร่วมมือกับชาวบ้านมาทำ แม้ตอนแรกจะมีคนทำน้อยก็ตาม แต่ก็ค่อยเห็นผลมากขึ้น”บังเสบกล่าว  

บ้านบางโรงยังมีการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนทุกๆ 4 ปี อย่างรอบคอบ ให้ “คน” เป็นจุดศูนย์กลาง และมีภูมิคุ้มกันทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม มีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อปลดเปลื้องหนี้สินโดยมีการระดมทุนทุกๆ เดือนจากแกนนำและจากเงินของมัสยิดที่เชื่อมั่นว่า การช่วยชาวบ้านปลดหนี้และซื้อที่ดินคืนสามารถทำให้ชาวบ้านมีที่ดินทำมาหากินประกอบอาชีพได้ รอดพ้นจากการเอารัดเอาเปรียบของนายทุน 

รวมถึงการเพิ่มรายได้ควบคู่ไปกับการรักษาสภาพความสมดุลย์คืนสู่ธรรมชาติด้วยการจัดตั้งธนาคารและศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้า  จังหวัดภูเก็ต ของกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านบางโรง เป็นตัวอย่างของการสร้างอาชีพเชิงอนุรักษ์ จนสามารถเลี้ยงตัวเองและชุมชน และสามารถปลดหนี้ได้

160704780051

ขณะที่“กลุ่มออมทรัพย์อัลอามานะห์ บ้านบางโรง” ขึ้นในปี 2550ในที่สุดกลายเป็น“ธนาคารของชุมชน” ที่ให้บริการด้านการเงินแก่คนในชุมชนบทบาทในการอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งนี้ เมื่อชาวบ้านชุมชนบ้านบางโรงมีแหล่งเงินทุน ผู้นำชุมชน และกรรมการมัสยิดยังคิดและพยายามอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนไปพร้อมๆกันด้วย

ปัจจุบันชุมชนบ้านบางโรงได้รับการคัดเลือกเป็น“ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง”จากสำนักงานสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประเภทชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง

เป็นชุมชนเข้มแข็งที่มีการนำองค์ความรู้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ และสร้างสังคมอยู่ดีมีสุข ทำให้ชุมชนมีภูมิคุ้มกันทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน แม้ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีนีก็ตาม