'สภาพัฒน์' ชี้ 3 ปัจจัยฉุดเศรษฐกิจฟื้นตัว ว่างงาน - หนี้ครัวเรือน - บาทแข็ง

'สภาพัฒน์' ชี้ 3 ปัจจัยฉุดเศรษฐกิจฟื้นตัว ว่างงาน - หนี้ครัวเรือน - บาทแข็ง

สศช. ชี่้ 3 ปัจจัยฉุดเศรษฐกิจไทยว่างงาน - หนี้ครัวเรือน -บาทแข็ง แนะเอกชนเร่งลงทุนช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ ระบุว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงจากโควิด-19ระลอกสองแม้ฟื้นตัวได้ดี มองการคุมระบาดโควิดสำคัญต่อการฟื้นเศรษฐกิจ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในระหว่างงานสัมนา “เดินหน้าฝ่าวิกฤต พลิกเศรษฐกิจไทย” เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมาจัดโดยสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยถือว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและถือว่าฟื้นตัวได้ดีและเร็วกว่าที่คาดไว้หลังจากที่คลายล็อกดาวน์ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าได้ทำให้จากเดิมที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะติดลบประมาณ 7% ก็คาดว่าจะติดลบลดลงเหลือ 6% เท่านั้น 

อย่างไรก็ตามแม้ทุกฝ่ายจะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเวลาที่ประเทศไทยจะเริ่มได้รับวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกประมาณกลางปี 2564 แต่จากวันนี้จนถึงวันที่ได้วัคซีนยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก เช่น ความเสี่ยงที่อาจจะมีการแพร่ระบาดระลอก 2 ในประเทศซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งหากมีการแพร่ระบาดในบางพื้นที่ที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวก็อาจจะกระทบกับการฟื้นตัวของท่องเที่ยวที่เริ่มดีขึ้นได้ 

“ทุกอย่างยังมีความไม่แน่นอน และมีความเปราะบางที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเคสที่เกิดขึ้นที่เชียงรายและเชียงใหม่  แม้จะยังไม่แพร่ระบาดไปมากแต่ก็เริ่มมีการยกเลิกที่พัก ก็จะไปซ้ำเติมภาคท่องเที่ยวได้ ดังนั้นการดูแลไม่ให้เกิิดการแพร่ระบาดถือว่ามีความสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจในระยะต่อไปด้วย”

สำหรับปัจจัยอื่นๆที่สศช.มีความเป็นห่วงนอกจากเรื่องโควิด-19 มีอยู่ 3 ปัจจัยได้แก่ 1.การว่างงาน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ในระยะต่อไปการว่างงานจะเพิ่มขึ้น เห็นจากชั่วโมงการทำงานของแรงงานที่เริ่มลดน้อยลง โดยปัจจุบันเริ่มเห็นระยะเวลาการทำงานของแรงงานลดลงจากเฉลี่ย 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

2.อัตราหนี้ครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันปรับขึ้นมาอยู่ที่ 83.8% ต่อจีดีพี ซึ่งนอกจากกระทบกำลังซื้อของประชาชน ยังจะเป็นปัญหาสังคมในระยะต่อไปได้ 

และ 3.ปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก เนื่องจากไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง แม้จะมีการเกิดโควิด-19 มากขึ้นแต่ก็มีเงินทุนไหลเข้า มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาโดยตลอด ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนมีน้อยมากเนื่องจากการลงทุนใหญ่ๆที่มีการนำเข้าเครื่องจักรหรือสินค้าทุนที่นำเข้ามาเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ

“ค่าเงินบาทที่แข็งค่าถือว่าเป็นโอกาส ในการปรับโครงสร้างการผลิต และโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างไร เพราะในระยะยาวเราจะอยู่แบบพึ่งการส่งออกกับท่องเที่ยว 60% ของจีดีพีไม่ได้อีกแล้ว เพราะส่งออกที่เราทำอยู่หลายสินค้าเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เพราะเพื่อนบ้านก็ผลิตสินค้าที่ใกล้เคียงกับเราด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ขณะที่เอกชนก็ควรใช้โอกาสที่เงินบาทแข็งลงทุนเครื่องมือเครื่องจักรเพื่อสร้างโอกาสธุรกิจในระยะต่อไป” 

160704625863

เลขาธิการ สศช.ยังกล่าวต่อว่าในวิกฤตก็ยังมีโอกาสอยู่ในช่วงโควิด-19 ที่ระบาดทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีโอกาสในเรื่องที่เป็นจุดแข็งของประเทศคือเรื่องสาธารณสุข ใน 1 - 2 ปีนี้ทุกๆคนต้องร่วมกันในเรื่องการปรับโครงสร้างใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นต้องทำให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่วนโอกาสของประเทศไทยในอนาคตเช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ,wellness center และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์หากมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ (EV) ยังสามารถที่จะปรับเปลี่ยนทำอุตสาหกรรมเรื่องของสมาร์ทเซนเซอร์ สมาร์ทกริดมีอุตสาหกรรมอีกหลายอย่างที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 

"ปี 64 ยังเป็นปีที่คนตัวใหญ่ต้องดึงตัวเล็กๆให้สร้างรายได้ใหม่ได้ เป็นจุดขายของชุมชน ท่องเที่ยวได้มากขึ้น ส่วนในเรื่องของบีโอไอก็คงต้องปรับเพื่อให้ดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น เจาะจงไปในส่วนที่ดึงคนเก่งในแต่ละสาขาที่เราอยากได้การลงทุนซึ่งมีทั้งเทคโนโลยีและทักษะเข้ามาในประเทศ โดยให้เอกชนที่มีเครือข่ายกับต่างประเทศช่วยทำในเรื่องนี้ และภาครัฐเป็นตัวช่วย ซึ่งการปรับจะใช้เวลาประมาณ 2 -3 ปีแต่ก็จะทำให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเพื่อเติบโตในระยะยาว"