ความเชื่อมั่นบริโภคขยับฐานขานรับมาตรการ“คนละครึ่ง”

ความเชื่อมั่นบริโภคขยับฐานขานรับมาตรการ“คนละครึ่ง”

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพ.ย. 2563  พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เท่ากับ 52.4 เป็นการปรับฐานของความเชื่อมั่นผู้บริโภคอีกครั้ง

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพ.ย. 2563 จากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 2,241 คน พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เท่ากับ 52.4 เป็นการปรับฐานของความเชื่อมั่นผู้บริโภคอีกครั้งในรอบปี 2563 นี้ ที่เศรษฐกิจไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ดัชนีมีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และปรับตัวอยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 แตะระดับ 52.4 ทั้งนี้เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับราคาสูงขึ้นอย่างโดยเฉพาะข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และปศุสัตว์ ส่งผลให้กำลังซื้อในหลายจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

แม้ว่าผู้บริโภคจะมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองไทยหลังจากมีการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งในเดือนต.ค. และผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและการว่างงานในอนาคตที่เกิดจากผลกระทบเชิงลบจากโควิด -19

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 45.6 โอกาสในการทางานทำอยู่ที่ระดับ 50.0 และรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 61.6 ซึ่งเป็นดัชนีที่ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ ถึงแม้ว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ

160701814485

การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นจากกลไกของรัฐ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว รวมทั้งดัชนีที่เกี่ยวข้องกับการซื้อสินค้าคงทน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถยนต์ มีการปรับตัวดีขึ้นเกิน 3 จุด สอดคล้องกับตัวเลขของการซื้อรถที่ติดลบด้วยตัวเลขเหลือเพียงหลักเดียวจาก 2 หลัก นอกจากนี้ในหมวดของค่าครองชีพก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน จึงถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยที่จะค่อยๆดีขึ้น

อย่างไรก็ตามศูนย์ฯคาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายไปอย่างน้อยจนถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 จนกว่าสถานการณ์ โควิด-19 ของโลกจะคลายตัวลง ซึ่งต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4 ว่าสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด และสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร ซึ่งปัจจัยทั้งสองจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต

มาตรการคนละครึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมาก ซึ่งรัฐบาลเตรียมออกมาตรการคนละครึ่งเฟส 2 และเติมเงินสวัสดิการรัฐอีก 500 บาท และขยายโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2-3 รอบ วงเงิน 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 1 ขยายตัวเป็นบวกได้ 3-4 % ”

ขณะที่การส่งออกปีหน้านั้น เห็นว่า ไม่น่าจะใช่เครื่องจักรสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจฟื้น เพราะการส่งออกยังคงได้รับผลกระทบจากเรื่องของการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการส่งออก ทำให้ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีนัก อาจเห็นการฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ยังคงมีปัจจัยที่น่าเป็นห่วงคือภัยแล้ง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวได้ ดังนั้นรัฐบาลควรต่อนโยบายดังกล่าว เพื่อที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้สามารถฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสที่ 2

ส่วนความคืบหน้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้นคาดว่าจะมีการฉีดวีคซีนได้ในไตรมาส 2 ส่งผลให้คลายกังวลและผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ได้ ทำให้เกิดกาการท่องเที่ยว โดยประเทศไทยอาจเปิดรับนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาประมาณ 4-8 ล้านคน และหากสถานการณ์การเมืองไม่รุนแรง เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นได้ในไตรมาสที่ 1และกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 2 โดยศูนย์ฯคาดว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะขยายตัวอยู่ที่ 3.5-4.5 %

สำหรับปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ย.ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย GDP ไตรมาส 3/63 ลดลง -6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/63 พร้อมปรับคาดการณ์จีดีพี ในปี 63 ว่าจะหดตัวน้อยลงเหลือ -6% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวถึง -7.8 ถึง -7.3% คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี รัฐบาลดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และมาตรการช้อปดีมีคืน ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้น และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และปศุสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น

ขณะที่ปัจจัยลบ ประกอบด้วย ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองเรื่องการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนและประชาชน ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจ และเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น การส่งออกไทยในเดือนต.ค.63 ลดลง -6.71%, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง รายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น