‘ทักษะ' ที่โลกยุคใหม่ต้องการ

‘ทักษะ' ที่โลกยุคใหม่ต้องการ

มีการคาดการณ์ว่าภายในหนึ่งทศวรรษข้างหน้า ครึ่งหนึ่งของตำแหน่งงานทั้งหมดในปัจจุบันจะหายไป มีการสร้างงานใหม่ที่มีคุณค่ามากกว่าเดิม องค์กรธุรกิจต่างๆ จึงปรับทักษะใหม่ ควบคู่กับการอัพสกิลพนักงานเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในวิถีการการทำงานของโลกยุคใหม่

โลกที่กำลังทรานส์ฟอร์มสู่ยุคใหม่ ยุคที่เปลี่ยนวิถีชีวิตการทำงานและการทำธุรกิจของผู้คนทั่วโลก วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 เป็นหนึ่งในตัวผลักดันสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างบนโลกเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม วิกฤติครั้งนี้ บีบให้การทรานส์ฟอร์มในหลายด้านเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดไว้

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD คาดการณ์ไว้ว่า ครึ่งหนึ่งของตำแหน่งของงานทั้งหมดในปัจจุบันจะหายไปภายในหนึ่งทศวรรษ แต่จะมีการสร้างงานใหม่ที่มีคุณค่ามากกว่าเดิมเข้ามาแทนที่องค์กรต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีผู้นำที่มีศักยภาพ เพื่อนำพาให้ทุกฝ่ายก้าวหน้าไปพร้อมกัน โดยเฉพาะผู้นำที่ต้องเข้าใจเทคโนโลยี และการเปลี่ยนไปของโลก

การล็อกดาวน์และเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤติโรคระบาดในช่วงที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ส่งผลกระทบเขย่าให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งวิถีการทำงาน และการใช้ชีวิตของคนเป็นอย่างมาก ทักษะการทำงาน และการใช้ชีวิตยุคใหม่ มีความจำเป็นมากขึ้นในยุคที่โลกไม่เหมือนเดิม เราได้เห็นองค์กรธุรกิจตื่นตัว เสาะหาโมเดลธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่ไม่เหมือนเดิมของคน เกิดบริการใหม่มากมายที่เราคาดไม่ถึงช่วงล็อกดาวน์ แต่กลายเป็นบริการที่ได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน อะไรที่คิดว่าทำไม่ได้ในโลกที่ไม่มีโรคระบาด แต่วันนี้หลายอย่างเกิดขึ้นและดำรงอยู่จนกลายเป็น New Normal ความปกติในรูปแบบใหม่ สร้างให้หลายธุรกิจที่ตอบโจทย์ได้ มียอดขาย ทำกำไรได้มากกว่าช่วงเวลาปกติ

สิ่งนี้ทำให้หลายองค์กรธุรกิจ เห็นความสำคัญในการรีสกิล หรือปรับทักษะใหม่ ควบคู่ไปกับการเพิ่มทักษะ หรืออัพสกิล ให้พนักงานตัวเอง เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในวิถีการทำงาน การคิดเชิงธุรกิจแบบนอกกรอบ ซึ่งต้องใช้ทักษะด้านเทคโนโลยี วิเคราะห์ข้อมูล องค์ความรู้เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ ความคิดเชิงสร้างสรรค์ ทักษะคิดเชิงวิเคราะห์ ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน รวมถึงทักษะความเป็นผู้นำ ซึ่งจำเป็นอย่างมาก

ดังนั้น จึงเป็นอีกเรื่องสำคัญที่เราเห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้องทุ่มงบประมาณ เพื่อให้ประชาชนในประเทศมีทักษะที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ และยังเป็นการแก้ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่อาจเกิดขึ้นจากการว่างงาน หรือวิกฤติเศรษฐกิจหนักๆ อีกในอนาคต ซึ่งจะเป็นปัญหาอย่างมากหากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไม่สามารถปรับทักษะได้ทัน

แม้ว่าวันนี้โรคระบาดโควิดยังวนอยู่รอบตัวเรา เพราะยังคงมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้นทั้งในประเทศ และนำเชื้อเข้ามา ส่งผลให้สังคมไทยที่เริ่มการ์ดตกไปพักใหญ่ ต้องหันมาเพิ่มความไม่ประมาท ระมัดระวัง และเข้มการปฏิบัติตัวให้ถูกสุขอนามัยเพิ่มขึ้น ขณะที่ โลกยังคงหมุนไปข้างหน้า พรุ่งนี้ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอ การปรับตัว ปรับทักษะ เพื่อให้สอดรับกับโลกยุคใหม่ยุคที่โควิดยังอยู่รอบตัว ควรต้องทำอย่างเข้มข้นควบคู่ไปด้วย