ครั้งแรกของสภาฯ "กมธ.ลุ่มน้ำ" ขอถอนรายงาน หลังพิจารณาเสร็จ เหตุถูกท้วงปมข้อเสนอแนะแนบท้าย

ครั้งแรกของสภาฯ "กมธ.ลุ่มน้ำ" ขอถอนรายงาน หลังพิจารณาเสร็จ เหตุถูกท้วงปมข้อเสนอแนะแนบท้าย

กมธ.ลุ่มน้ำฯ ที่มี ร.อ.ธรรมนัส เป็นประธานกมธ. ใช้เวลาศึกษาปัญหา6ลุ่มน้ำ เกือบปี สุดท้ายต้องถอนรายงานออกจากที่ประชุม เพราะถูกท้วงปมข้อเสนอแนะแนบท้ายไม่มีผลเสนอให้รัฐบาลปฏิบัติ

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุชาต ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม ซึ่งพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ. 
      ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวที่ใช้เวลาพิจารณารายละเอียดกว่า 4 ชั่วโมงครึ่ง มีการอภิปรายโดยส.ส.อย่างกว้างขวาง แต่สภาฯ ไม่สามารถลงมติเห็นชอบรายงานฉบับดังกล่าวได้ เนื่องจากมีผู้ท้วงติงต่อความไม่สมบูรณ์ของเนื้อหา อาทิ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ทั้ง รูปเล่มรายงานที่นำเสนอต่อสภาฯ มีเพียงฉบับเดียว จากทั้งหมด 6 ฉบับที่ศึกษาในกลุ่มลุ่มน้ำต่างๆ รวมถึงข้อเสนอแนะของกมธ.ฯ นั้นขาดรายละเอียดที่ให้รัฐบาลรับไปดำเนินการและรายงานความคืบหน้าต่อสภา
160699366012
      ทั้งนี้นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ระบุว่าตนเห็นว่ารายงานของกมธ. ไม่สมบูรณ์ หากจะให้สภาฯ เห็นชอบ ต้องมีการลงมติ และขอนับองค์ประชุม อย่างไรก็ดีตนเชื่อว่าองค์ประชุมขณะนี้มีไม่ครบ เพราะมีส.ส.ร้อยกว่าคนเท่านั้น ดังนั้นขอให้กมธ.พิจารณาปรับปรุงรายละเอียดและเสนอต่อสภาฯ อีกครั้ง
      ทำให้นายวีระกร ฐานะรองประธานกมธ.ฯ ซึ่งชี้แจงต่อสภาฯ ขอถอนรายงานฉบับดังกล่าวออกจากการพิจารณา เพื่อปรับปรุงและจะเสนออีกครั้ง ทั้งนี้ขอขยายเวลาการทำงานของกมธ.​อีก 45 วัน
      ผู้สื่อข่าวรายงานงาน รายงานของกมธ. ที่กมธ.ฯ ขอถอนออกจากการพิจารณาหลังจากที่อภิปรายแล้วเสร็จนั้นถือเป็นฉบับแรกที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีกมธ.ฯ คณะดังกล่าวได้ใช้เวลาพิจารณาศึกษาปัญหา เกือบ 1 ปี  โดยครั้งแรกที่สภาฯ เห็นชอบญัตติด่วนให้ตั้งกมธ.ฯ คือ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2562.