CIMBT หวั่นเงินร้อน ฉุดเศรษฐกิจไทยปี64 ส่องแข็งค่าแตะ 28.60บาทต่อดอลฯ

CIMBT หวั่นเงินร้อน ฉุดเศรษฐกิจไทยปี64 ส่องแข็งค่าแตะ 28.60บาทต่อดอลฯ

ซีไอเอ็มบีไทย แนะระวังเงินร้อน หนุนบาทแข็งค่าแตะ28.60บาทต่อดอลฯในปีหน้า ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตเศรษฐกิจปี64

160696790028    ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่าแม้เศรษฐกิจปีหน้ากำลังฟื้นตัวได้ดีขึ้นผ่านเครื่องจักรสำคัญคือภาคการส่งออกสินค้า

    แต่ปัจจัยเสี่ยงของปีหน้าก็คือตัวแปรสำคัญที่กระทบภาคการค้าระหว่างประเทศ นั่นคือ ค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ และอาจแข็งค่าเทียบประเทศคู่ค้าสำคัญรายอื่นๆ ของไทยด้วย โดยเงินบาทที่แข็งค่ามาจากสองปัจจัย

    ปัจจัยแรก เกิดจากการเกินดุลการค้าที่มากขึ้นตามการส่งออก ขณะที่การนำเข้า โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรอาจยังไม่เติบโตมากนักตามการลงทุนภาคเอกชนที่ยังฟื้นตัวช้า และปัจจัยที่สอง

    คือ กระแสเงินไหลเข้าในตลาดทุนที่มากขึ้น ทั้งจากการคลายความกังวลในวิกฤติเศรษฐกิจ จากสภาพคล่องที่ล้นระบบตลาดการเงินในประเทศสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศ ส่งผลให้เงินลงทุนเก็งกำไรจากต่างชาติเข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย

    ซึ่งเงินร้อน หรือเงินลงทุนหวังผลกำไรระยะสั้นจากสภาพคล่องที่ล้นเหล่านี้ ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานของไทยที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง น่าจะมีส่วนสำคัญให้เงินบาทแข็งค่าได้เร็วในปีหน้า

    โดยเรามองว่าเงินบาทที่แข็งค่าได้ถึง 6% จากปลายปีนี้หรือไปแตะระดับ 28.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ปลายปีหน้านี้ อาจมีผลให้การส่งออกสินค้าเติบโตได้ช้าลงกว่ากรณีที่เงินบาทไม่ได้แข็งเช่นที่คาดนี้ แม้การส่งออกรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ยังเป็นบวกตามความต้องการที่ดีขึ้นในตลาดโลก บาทที่แข็งค่าเร็วและแรงอาจดูเป็นไปได้ยากแต่.    

    หากดูภาพการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่แข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ หลังวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 ช่วงเฟดทำ QE ต่อเนื่องและหลังตลาดคลายความกังวลในสภาพคล่องรูปดอลลาร์สหรัฐฯ เราอาจได้เห็นเงินร้อนท่วมตลาดเกิดใหม่อีกรอบ ผู้ส่งออกอาจลองหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินช่วยป้องกันความเสี่ยงจากบาทแข็งและหาทางถือเงินดอลลาร์สหรัฐฯไว้ใช้จ่ายมากกว่าแลกกลับเป็นเงินบาทเพื่อลดต้นทุนจากการแลกเปลี่ยนเงิน

 

    ในปี 2564 เราคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.1% ดีขึ้นจากที่คาดไว้ก่อนหน้าที่ 2.8% และคาดปีนี้ที่คาดว่าจะหดตัว 6.6% ดีขึ้นกว่าที่คาดจะหดตัว 7.5%การปรับมุมมองเชิงบวกมากขึ้นมาจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสสามที่ออกมาดีกว่าคาดและเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นได้เร็วจากมาตรการกระตุ้นในแต่ละประเทศ

    ซึ่งเราอาจเห็นเศรษฐกิจไทยเริ่มขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนได้ในไตรมาสที่สองปีหน้า แต่ภาพของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวน่าจะมีความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง

    โดยแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีกว่าคาดน่าจะมาจากการแจกจ่ายวัคซีนได้ทั่วถึงที่จะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาได้เร็ว

    ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยยังคงเหมือนปีนี้ นั่นคือปัญหาการเมือง เงินบาทที่แข็งค่า การระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบสอง และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่อาจดำเนินต่อแม้นายโจ ไบเดนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมถึงกระแสกีดกันโลกาภิวัตน์ที่ประเทศต่างๆ อาจเลือกใช้ของในประเทศเพื่อสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจในประเทศ

    หรือแม้แต่สนับสนุนการท่องเที่ยวภายในหรือกีดกันการเดินทางออกนอกประเทศแม้มีวัคซีนโควิด เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศและป้องกันเงินรั่วไหลออกไปใช้จ่ายต่างประเทศ

    ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเปิดขนาดเล็กจะได้รับผลเชิงลบจากปัจจัยต่างประเทศผ่านการแข็งค่าของเงินบาทและการกีดกันการค้ามากกว่าปัจจัยการเมืองหรือการระบาดรอบสอง เราคงต้องฝากความหวังกับทั้งกระทรวงการคลังและธปท.ในการสกัดเงินร้อน หรือหามาตรการเร่งให้เกิดความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท แต่ผมเชื่อว่ามาตรการเหล่านี้คงยากที่จะต้านทานกระแสเงินร้อนได้ เศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัวในปีหน้าอาจเป็นในลักษณะที่ฟื้นเพียงภาคการส่งออกแต่อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอหรือฟื้นตัวช้า

     โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่ยังมีปัญหายอดขายเติบโตช้า หนี้เสียที่สูงขึ้นในระบบอาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อธุรกิจ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงมีผลให้คนระมัดระวังการใช้จ่าย ชั่วโมงการทำงานยังไม่กลับขึ้นไปเป็นปกติส่งผลให้รายได้ยังไม่กลับไปในช่วงก่อนโควิด

     ซึ่งในปีหน้านี้ เรายังคงอาจเห็นภาพเศรษฐกิจไทยที่แม้กำลังฟื้นตัว แต่จะเริ่มที่ภาคส่งออกก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะส่งผ่านมาช่วยพยุงภาคในประเทศ และอาจเห็นเศรษฐกิจในประเทศที่แข็งแกร่งชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ชัดเจนก่อนวิกฤติโควิดในปี 2565