ลุ้นนโยบายรัฐบาลใหม่สหรัฐ'America is back'

ลุ้นนโยบายรัฐบาลใหม่สหรัฐ'America is back'

มาดูกันว่านโยบาย“อเมริกากลับมาแล้ว” (America is back) ซึ่งมีเป้าหมายนำพาสหรัฐกลับมาผงาดบนเวทีโลกอีกครั้ง หลังจากสหรัฐ โดดเดี่ยวตัวเองมาตลอด4ปีในการบริหารประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

ไบเดนและทีมบริหารชุดใหม่ เลือกใช้ตัวช่วยแรกในการทำให้นโยบายนี้เดินหน้าด้วยการเลือก"แอนโธนี บลิงเคน" วัย 58 ปี เป็นรมว.ต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐ ในฐานะที่บลิงเคนเคยเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายความมั่นคงให้กับไบเดนเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐ แถมยังเคยดำรงตำแหน่งรมช.ต่างประเทศ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของเขาในรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัก โอบามา

นอกจากนี้ ไบเดนยังหันกลับไปซบอกบรรดาชาติพันธมิตร และฟื้นฟูความสัมพันธ์กับนานาชาติ ซึ่งภารกิจสำคัญอันดับต้นๆ ที่เขาจะทำคือ การกลับไปแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับฝ่ายต่างๆ ที่โดนัลด์ ทรัมป์ทิ้งไว้ให้ โดยเฉพาะองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) รวมถึงการกลับเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือกับนานาชาติ อย่าง องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ซึ่งถูกทรัมป์ตัดสัมพันธ์อย่างไม่เหลือเยื่อใย

ขณะที่ไบเดนก็มีเป้าหมายที่จะสร้างบทบาทให้กับสหรัฐในฐานะผู้นำโลกในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย ไบเดนต้องการพลิกโฉมนโยบายต่างประเทศครั้งใหญ่เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ที่เสียหายของสหรัฐ โดยพยายามให้สหรัฐกลับไปมีบทบาทบนเวทีโลกเหมือนกับที่บรรดาผู้นำสหรัฐในอดีตเคยทำมา เพื่อที่สหรัฐจะได้ทวงคืนความเป็นเบอร์หนึ่งของโลกได้อีกครั้ง

ไบเดนปฏิญาณว่า สหรัฐจะยึดมั่นในสถาบันระหว่างประเทศที่ร่วมก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และตั้งมั่นอยู่บนค่านิยมของความเป็นประชาธิปไตยร่วมกันระหว่างชาติตะวันตก ทั้งยัง ยืนยันในพิธีเปิดตัวทีมนโยบายต่างประเทศของเขา ซึ่งจัดขึ้นที่รัฐเดลาแวร์เมื่อวันอังคารที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า สหรัฐจะกลับมานั่งหัวโต๊ะอีกครั้ง พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับศัตรู และจะไม่ละทิ้งชาติพันธมิตร

ส่วนการต่อสู้กับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ก็เป็นภารกิจสำคัญด้วยเช่นกัน โดยไบเดน ให้คำมั่นว่าจะนำสหรัฐกลับเข้าร่วมในความตกลงปารีสอีกครั้งหลังจากทรัมป์สั่งสหรัฐถอนตัวเมื่อปี 2560 และไบเดนยังได้กางแผนการมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อใช้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามความตกลงปารีส โดยระบุว่า สหรัฐจะต้องสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด และสร้างงานหลายล้านตำแหน่งจากกระบวนการนี้

ซึ่งในประเด็นนี้ “วู้ด แมคเคนซี” บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยด้านพลังงานระดับโลกมีความเห็นว่า เป้าหมายในการรับมือกับภาวะโลกร้อนของไบเดนคงจะไปไม่ถึงฝันที่จะลดการปล่อยคาร์บอนลงเหลือศูนย์ก่อนปี 2593 หากไม่ได้รับความร่วมมือจากจีน

สอดคล้องกับความเห็นของ“เกวิน ธอมป์สัน” รองประธานฝ่ายพลังงานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของวู้ด แมคเคนซี ที่บอกว่า การตกลงเรื่องเป้าหมาย, การวัดความคืบหน้า และการลงโทษประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามเป้าหมายในการลดโลกร้อนนั้น จะประสบความสำเร็จได้มากขึ้นด้วยความร่วมมือแบบพหุภาคี ซึ่งจีนจะมีส่วนสำคัญ ไม่เพียงในแง่ของนโยบายภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสามารถที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศอื่นๆ ทำการเปลี่ยนแปลงด้วย

ส่วนจีนนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าไบเดนจะยังคงดำเนินการตามทรัมป์ในเรื่องของการต่อสู้กับอิทธิพลที่ก้าวร้าวทางเศรษฐกิจของจีน แต่ก็จะใช้เวทีระหว่างประเทศมากขึ้นในการเจรจาต่อรอง โดยหวังที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ตกต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปีในยุคของทรัมป์

ขณะที่ภูมิภาคอาเซียน ไบเดนน่าจะเดินตามรอยการบริหารของโอบามาที่ให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้อย่างมากแต่ไม่ว่าไบเดนจะดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างไรกับไทยและอาเซียนประเทศไทยก็น่าจะต้องเลือกเดินสายกลาง และต้องไม่เลือกข้างระหว่างสหรัฐกับจีน เพราะไทยยังคงต้องพึ่งพาด้านการค้าและเศรษฐกิจกับจีน ขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐ