ไขข้อข้องใจ จ่ายค่าบัตรเครดิตแค่ขั้นต่ำ ยิ่งจ่ายยิ่งเป็นหนี้!

ไขข้อข้องใจ จ่ายค่าบัตรเครดิตแค่ขั้นต่ำ ยิ่งจ่ายยิ่งเป็นหนี้!

ไขข้อข้องใจ ทำไมเมื่อใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้า แล้วเลือกจ่ายแค่ขั้นต่ำ กลับยิ่งทำให้เป็นหนี้ ที่มาพร้อมกับดอกเบี้ยจำนวนมาก? และหากไม่ได้จ่ายค่าบัตรเครดิตเต็มจำนวน จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

สวัสดีครับทุกท่าน เราก็เดินทางมาถึงเดือนสุดท้ายของปีนี้กันแล้วนะครับ และส่งท้ายปีแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่หลายๆ ท่านคงเริ่มเตรียมกัน ก็คือการเริ่มซื้อของขวัญไม่ว่าจะแจกลูกค้า Partner เพื่อนฝูง หรือพี่น้องต่างๆ (อย่าลืมใช้สิทธิ ช้อปดีมีคืน ออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบกันด้วยนะครับ สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาทครับ) และหลายๆ ท่านก็เลือกที่จะใช้บัตรเครดิตในการชำระซื้อของ อาจเป็นเพราะด้วยความสะดวกสบาย หรือเพราะโปรโมชั่นที่ล่อตาล่อใจก็ตาม

แต่อย่าลืมนะครับ เราต้องใช้บัตรให้ถูกวิธีด้วย บางท่านอาจคิดว่า ไม่เป็นไร จ่ายแค่ขั้นต่ำไปก่อนก็ได้ ไม่เป็นไร วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่าให้ทุกท่านฟังครับ ว่าหากเราไม่ได้จ่ายค่าบัตรเครดิตเต็มจำนวน จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อทุกท่านจะได้วางแผนการใช้บัตรในช่วงเทศกาลนี้ได้อย่างดีครับ

บัตรเครดิต ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินอย่างหนึ่งที่สามารถเพิ่มอำนาจการซื้อให้กับผู้ถือบัตรได้จำนวนมากและสามารถหยิบออกมาใช้งานได้ อย่างสะดวกรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ความสะดวกสบาย ก็ย่อมแลกมากับดอกเบี้ยที่ถือว่าสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่นๆ อยู่มาก ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดหนี้สินจำนวนมากต่อเจ้าของบัตร ดังนั้นการทำความเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับวิธีการใช้บัตรเครดิตอย่างถูกต้อง จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ความเชื่อผิดๆ อย่างหนึ่งของผู้ใช้บัตรเครดิตส่วนมากก็คือ ความเชื่อที่ว่า การจ่ายค่าบัตรเครดิต เพียงแค่ขั้นต่ำนั้นก็เพียงพอแล้วในแต่ละเดือน โดยที่หลายๆ คนเข้าใจว่าเป็นสิทธิพิเศษที่ธนาคารเจ้าของบัตรมอบให้กับผู้ถือบัตร ซึ่งความจริงหาเป็นอย่างนั้นไม่ เพราะเมื่อไรที่ ผู้ถือบัตรเริ่มที่จะชำระค่าบัตรเครดิต เพียงแค่ขั้นต่ำแล้วนั้น จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้ ที่มาพร้อมกับดอกเบี้ยจำนวนมากทันที

โดยดอกเบี้ย ที่เกิดขึ้นนั้นจะมี อยู่ 2 ยอดก็คือ ดอกเบี้ยที่ใช้จ่าย และ ดอกเบี้ยค้างชำระ

โดยดอกเบี้ยที่ใช้จ่ายจะคำนวณจาก = เงินต้นทั้งหมดที่ค้างจ่าย x อัตราดอกเบี้ย x (จำนวนวัน / 365 วัน)

และดอกเบี้ยค้างชำระจะคำนวณจาก = เงินต้นค้างจ่าย x อัตราดอกเบี้ย x (จำนวนวัน / 365 วัน)

ตัวอย่างเช่น หาก เรามีการใช้บัตรเครดิต ที่มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 20% ต่อปี ตัดรอบบิลทุกๆ วันที่ 25 ของเดือน โดยที่เรานำบัตรไปใช้จ่ายในวันที่ 1 ของเดือน เมษายนเป็นเงิน 20,000 บาท และชำระขั้นต่ำ 10% (2,000 บาท) ในวันที่ 10 พฤษภาคม แล้วนั้น ในเดือนพฤษภาคม จะมียอดหนี้ที่เกิดจาก

ดอกเบี้ยที่ใช้จ่าย เป็นเงิน 20,000 x 20% x (25/365) (1 เมษายน – 25 เมษายน ) = 273.97 บาท

ดอกเบี้ยค้างชำระ เป็นเงิน (20,000-2,000) x 20% x (16/365) (10 พฤษภาคม – 25 พฤษภาคม ) = 157.80 บาท

เงินต้นที่ค้างชำระ 18,000 บาท

รวมแล้วยอดหนี้เราในเดือนถัดไปจะเท่ากับ 273.97+157.80+18,000 = 18,431.77 บาท

และหากงวดนี้เราจ่ายเพียงแค่ขั้นต่ำอีกงวดหนึ่งที่ 1,844 บาทเท่านั้น ก็จะเห็นได้ว่า จากยอดเงิน 1,844 บาทนี้ จะถูกนำไปจ่ายเป็นค่าดอกเบี้ยถึง 431.77 บาท เหลือ เป็นเงินไปลดต้นเพียงแค่ 1,412.23 บาทเท่านั้น

ซึ่งหากเราเลือกที่จะจ่ายเพียงขั้นต่ำไปเรื่อยๆ นั้น เราจะต้องใช้เวลาถึงกว่า 4 ปี ถึงจะชำระหนี้ก้อนนี้ได้หมด

นอกจากนั้น การที่เรามียอดหนี้ค้างชำระ จะยังทำให้ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยถูกยกเลิกไปอีกด้วย นั่นหมายความว่าทุกยอดการใช้จ่ายใหม่ที่เกิดขึ้นจะถูกนำไปรวมในเงินต้น เพื่อคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ใช้จ่ายจนถึงวันที่ชำระยอดทันที และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ยอดจ่ายขั้นต่ำที่เราชำระเข้าไปนั้น เกือบทั้งหมดจะถูกนำไปจ่ายเป็นดอกเบี้ย เหลือนำไปจ่ายในส่วนของเงินต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงเกิดเป็นที่มาว่า ทำไมจ่ายไปเท่าไรหนี้ก็ไม่ลดลงเลย

คำถามน่าสนใจต่อมาก็คือแล้วเราควรทำอย่างไรหากว่าเรา ไม่สามารถจ่ายค่าบัตรเครดิตได้เต็มจำนวน

คำตอบก็คือสิ่งที่ลูกหนี้ควรทำเมื่อไม่สามารถจ่ายค่าบัตรเครดิตได้เต็มจำนวนนั้น ก็คือ 1. การหยุดใช้บัตรเครดิตใบนั้นในการใช้จ่ายใดๆ เพราะ ทุกการใช้จ่าย จะทำให้เกิดดอกเบี้ยทันที เพราะระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยได้ถูกยกเลิกไปแล้ว การที่ยังใช้บัตรเครดิตใบนั้นใช้จ่ายอยู่จะทำให้เกิดดอกเบี้ยจำนวนมาก 2. ควรจะชำระค่าบัตรเครดิตให้มากที่สุดเท่าที่จะชำระได้ โดยอย่างน้อยควรจะมากกว่ามูลค่าดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้ลดเงินเงินต้นลง ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยในเดือนต่อไปลดลงด้วยนั่นเอง

สุดท้ายนี้ หากเจ้าของบัตรมีความจำเป็นต้องการใช้บัตรเครดิตในการซื้อหรือชำระค่าสินค้า/บริการที่มีราคาสูง แต่ไม่อยากจ่ายเป็นเงินก้อนทีเดียว การเลือกที่จะใช้โปรโมชั่น ผ่อน 0% หรือผ่อนดอกเบี้ยต่ำ ที่ทางร้านค้าหรือบัตรเครดิตมีไว้ให้นั้น ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า การรูดไปก่อนแล้วมาจ่ายขั้นต่ำในแต่ละเดือนครับ”