คกก.ขับเคลื่อนกัญชา ถกนัดแรก ปรับบทบาทภาครัฐเป็นส่งเสริม

คกก.ขับเคลื่อนกัญชา ถกนัดแรก ปรับบทบาทภาครัฐเป็นส่งเสริม

ประชุม "คณะกรรมการขับเคลื่อนกัญชา" แมตช์แรก ปรับบทบาทภาครัฐเป็นส่งเสริม ดึงเอกชน-วิสาหกิจชุมชน ร่วมขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเฟส 2

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ โดย ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ประธานคณะกรรมการฯ ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมว่า “การประชุมในครั้งแรกนี้เป็นการรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหา และอุปสรรคของการดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พร้อมนำเสนอแผนงานที่จะดำเนินการต่อไปในปี 2564 โดยคณะกรรมการจากทุกหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขมีความเห็นตรงกันใน 4 ประเด็นหลักที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว

ได้แก่ (1) การปรับข้อกำหนดและกฎหมายให้เอื้อต่อการใช้กัญชาเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ (2) การพัฒนาระบบการศึกษาวิจัยเพื่อใช้สนับสนุนผลิตภัณฑ์กัญชาและการบริการที่เกี่ยวข้อง (3) การสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องไปยังสาธารณชนและผู้ร่วมปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน และ (4) การปรับโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงให้เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน วิสาหกิจชุมชน และประชาชน”

ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการดำเนินงานในปีหน้าว่า “จะเริ่มจากการปรับบทบาทของภาครัฐจากการเป็นผู้ดำเนินการเอง มาเป็นผู้สนับสนุน เพื่อทำให้ภาคเอกชนและวิสาหกิจชุมชนมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปลูก การผลิต การจำหน่าย นอกจากนี้การจะนำกัญชามาใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด จำเป็นจะต้องมองให้ครบทั้งห่วงโซ่อุปทานของกัญชา (Supply chain) ต้องแยกบทบาทความรับผิดชอบของงานต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถนำทุกส่วนของพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ได้ และยังสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์กัญชาและการบริการให้เกิดประโยชน์ครอบคลุมทั้งในทางการแพทย์ และไม่ใช่ทางการแพทย์ ภายใต้แนวทางการกำกับที่เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์และการบริการ”

"และในขณะนี้ประเทศไทยก็ได้จัดตั้ง สถาบันกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นองค์กรกลางของประเทศด้านกัญชา (Thai Medical Cannabis Agency; TMCA) ในการประสานงาน กำกับติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์ และรายงานต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ โดยตรง เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที เพราะการจะพัฒนากัญชาให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้นั้น จำเป็นจะต้องมีองค์กรกลางที่จะสอดประสานการทำงานของทุกภาคส่วน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำกันไปคนละเป้าหมาย โดยในการประชุมครั้งถัดไป สถาบันกัญชาทางการแพทย์ จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกลุ่มกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในการนำเสนอ business model สำหรับการพัฒนากัญชาเพื่อใช้ในเชิงเศรษฐกิจ” ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวทิ้งท้าย