"กฎหมายประชามติ - รัฐธรรมนูญ” กลไก “ต่อรอง”​ ปรองดองการเมืองไทย

"กฎหมายประชามติ - รัฐธรรมนูญ” กลไก “ต่อรอง”​ ปรองดองการเมืองไทย

จับตาการพิจารณา 2 ร่างกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งอยู่ในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภา คือ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพราะทั้ง2นั้น ล้วนมีผลต่อทิศทางการเมืองไทย

      ขณะนี้ “รัฐสภา” มี 2 กฎหมายสำคัญที่เข้าสู่การพิจารณา คือ “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ....” และ “ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พ.ศ....” 
      ต้องยอมรับว่าเป็น ร่างกฎหมายที่มีส่วนเกื้อหนุนกัน
      เพราะเนื้อหาของ รัฐธรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีเนื้อหาแก้ไขส่วนว่าด้วยหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือ หมวด15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจหน้าที่ของศาล ขององค์กรอิสระ  ต้องผ่านการลงประชามติ” 
      ขณะที่ กฎหมายประชามติ คือ เครื่องมือ เครื่องชี้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะได้รับความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ จากผู้ที่มีสิทธิออกเสียงประชามติ  ภายใต้กระบวนการ และกลไกที่ระบุไว้ในกฎหมาย
      แม้ขณะนี้ จะผ่านแค่ "วาระรับหลักการ” และยังมีขั้นตอนพิจารณาในชั้น “กรรมาธิการวิสามัญ” ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สามารถทำนายอนาคตข้างหน้าได้
      แน่นอนว่าหลักการของการทำกฎหมาย ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่แอบแฝงต่อการให้คุณ หรือให้โทษบุคคลใด
      แต่ในการออกเสียงประชามติ รับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ รอบที่ผ่านมา เมื่อ 7 สิงหาคม 2559  ภายใต้  พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นต้นแบบของ "ร่างพ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ...."  ฉบับที่รัฐสภา รับหลักการ ไปเมื่อ 1 ธันวาคม 2563  พบบทบัญญัติที่ปิดกั้น การใช้สิทธิ เสรีภาพของการให้ข้อมูล และข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านต่อร่างรัฐธรรมนูญ 
      ทำให้ ผู้ที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถูกจับ ดำเนินคดี ในฐานความผิด 
      “เผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ ซี่งมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิ หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ถือว่าผู้นั้นก่อความวุ่นวาย ให้การออกเสียงไม่เรียบร้อย”  ไปหลายคดี
 
      แม้ ร่างพ.ร.บ.ประชามติ ฉบับที่รัฐสภาเพิ่งรับหลักการ จะไม่มีเนื้อหาที่เขียนไว้ชัดเจนดังว่า
      แต่รายละเอียดซึ่งเป็นข้อห้ามกระทำ ในเรื่อง การก่อความวุ่นวาย ซึ่งส่งผลให้การออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความไม่เรียบร้อย ยังคงอยู่ และคงบทกำหนดโทษ จำคุก 10ปี ปรับ2แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี ไว้
      ถูก "ส.ส.ฝ่ายค้าน" ตั้งข้อสังเกตแบบรุนแรงว่า นี่คือ เครื่องมือของรัฐที่จะจัดการผู้ที่ไม่ต้องการรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเปิดให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจจับกุม ดำเนินคดีกับประชาชน ผู้ที่รณรงค์ไม่รับเนื้อหา
      อย่างไรก็ดี เมื่อหน้าตาของ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่รัฐสภาพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ยังไม่ปรากฎให้เห็น จะกล่าวให้ร้าย เนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ได้อย่างไร?
      เมื่อพิจารณาบนหลักการ ของ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอให้แก้ไข  มี 2ประเด็นสำคัญ​คือ 1.แก้ไขมาตรา 256 เพื่อลดเงื่อนไขให้การผ่านรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น โดยไม่มีเกณฑ์การออกเสียง จากวุฒิสภา หรือ เสียงของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน เป็นบทบังคับ และ 2.เพิ่มหมวดว่าด้วยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 
      ส่วนสำคัญ คือ บทว่าด้วยที่มาและอำนาจหน้าที่ ของ  “ส.ส.ร.”  ที่วางหลักการสำคัญ  คือ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ที่ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการถกเถียงว่า จะใช้รูปแบบเลือกตั้งแบบทั้งหมด หรือเพียงส่วนหนึ่ง เพราะกลไกที่เขียนให้เป็นที่มาของส.ส.ร. หากวางรูปแบบให้ดี ย่อมจะได้คนที่อยู่ใต้การกำกับ หรือ พรรคพวกเดียวกัน ซึ่งจะเอื้อต่อการเขียนบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามที่ต้องการได้
      ดังนั้นหาก "หน้าตา บทบาท และ อำนาจ ส.ส.ร.”  เอื้อต่อการครองอำนาจ หรือทำให้ “ฝ่ายเรา” ได้เปรียบ การกำหนดกระบวนการ-กลไกของการออกเสียงประชามติ อาจถูกกำหนดเพื่อใช้เป็นกลไกกำราบผู้เห็นต่าง  
      เพื่อให้การผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ทำได้โดยละม่อมที่สุด แต่หากเนื้อหาไม่เป็นไปตามใจนึก  กติกาที่สร้างเงื่อนไขให้ผ่านยากที่สุด อาจถูกเขียนไว้ในเนื้อหา เพื่อให้อำนาจ แก่ “ฝ่ายรัฐ” ดำเนินการ-ออกปฏิบัติการ
      แต่ปัญหานี้อาจหมดไป เมื่อแต่ละฝ่าย ต่อรองกันได้ สร้างปรองดองร่วมกันได้สำเร็จ และประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 7สิงหาคม2559 อาจไม่วนซ้ำรอย
      สำหรับไทม์ไลน์ของ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรรมาธิการฯ เคาะไว้คร่าวๆ  จะนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา วาระสองและวาระสามได้ไม่เกินเดือนมกราคม 2564 ขณะที่ ร่างพ.ร.บ.ประชามติ นั้น คาดว่ากรรมาธิการฯ จะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาไล่เลี่ยกัน คือ ไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2564.