ศาล ชี้ คำสั่งคสช.เรียกรายงานตัวขัดรธน.

ศาล ชี้ คำสั่งคสช.เรียกรายงานตัวขัดรธน.

ศาล ชี้ คำสั่งคสช.เรียกรายงานตัวขัดรธน. อดีตกรธ. ระบุ แม้ผิดรธน.แต่เอาผิดคสช.ไม่ได้

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องพิจารณาที่ 12/2563 กรณีศาลแขวงดุสิต ส่งคำร้องโต้แย้งของจำเลย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ลงวันที่ 24 พ.ค.2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พ.ค. 2557 ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่ากรณีประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ลงวันที่ 24 พ.ค.2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พ.ค.2557 เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ส่วนประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เห็นว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ระบุว่า การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย
กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง

ส่วนมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ระบุว่า บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลากระทำความผิดมิได้

ด้านนายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงคำวินิจฉัยกรณีนี้ว่า ก็จะมีผลให้คดีที่มีการฟ้องหรือพิจารณาอยู่ในศาลยุติธรรม ศาลไม่ต้องพิจารณาต่อไปโดยศาลต้องยกฟ้องหรือจำหน่ายคดี ส่วนจะมีผลอะไรต่อ คสช.ในฐานะผู้ออกคำสั่งหรือไม่นั้น เห็นว่าไม่น่าจะมีผลอะไร เพราะเป็นเพียงแค่การตรวจสอบความชอบของการกระทำ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบคงจะไปฟ้องเรียกค่าเสียหายอะไรจาก คสช.ไม่ได้

“เพราะอันนี้มันเหมือนคนที่ไปออกกฎหมาย แล้วกฎหมายที่ออกมามันขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายนี้ก็สิ้นผลบังคับใช้ แต่จะบอกว่าการที่ทำให้คนยุ่งยากช่วงที่กฎหมายนั้นออกมา และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยแล้วส่งผลกระทบ คงจะไปบอกอย่างนั้นไม่ได้ เพราะท้ายที่สุดคนที่ออกกฎหมายเขาก็เข้าใจว่าเขามีอำนาจในการออก ณ เวลานั้นๆ” นายอุดม กล่าว

นายอุดม กล่าวด้วยว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ คนที่เดินทางออกไปนอกประเทศก่อนหน้านี้ เพราะไม่ต้องการไปรายงานตัวตามคำสั่งเรียกของ คสช. ก็สามารถขอกลับเข้ามาภายในประเทศได้ เพราะคำสั่งเรียกของ คสช.ไม่สามารถใช้บังคับได้ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา

“จริงๆเรื่องของเรื่อง เวลาเราพูดถึงอำนาจของภาครัฐ มันมีอำนาจอยู่แล้ว แต่อำนาจนี้ การที่จะไปสืบว่าเขามีเจตนาที่จะทำให้เสียหายมันพูดยาก เพราะวัตถุประสงค์ของการออกกฎหมาย เป็นเรื่องเฉพาะหน้า ที่เขาเห็นว่าเขามีอำนาจ มันยากที่จะบอกว่ากรณีนี้ก่อให้เกิดความเสียหาย ฉะนั้นต้องรับผิดในทางแพ่ง ทางอาญา มันยุ่งยากที่จะไปตีความว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบคงไม่ได้ เพราะเป็นความเห็นทางกฎหมายที่แตกต่างกัน” นายอุดม กล่าว