'สนข.'เร่งศึกษาโลจิสติกส์อีอีซี-ระนอง

'สนข.'เร่งศึกษาโลจิสติกส์อีอีซี-ระนอง

"สนข."ติดเครื่องศึกษาโครงข่ายโลจิสติกส์เชื่อมขนส่งสินค้า "อีอีซี" ประตูการค้าภาคใต้ คาดเสร็จปี 2564 หนุนไทยเป็นฮับด้านโลจิสติกส์

รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้สัมมนาโครงการศึกษาการจัดทำแผนโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงฐานการผลิตในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับประตูการค้าในพื้นที่ภาคใต้ จ.ระนอง โดยเริ่มศึกษาความต้องการของประชาชนในภาคตะวันออกเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2563

ทั้งนี้ สนข.ยืนยันถึงวัตถุประสงค์ของการจัดทำแผนโลจิสติกส์ดังกล่าว เป้าหมายหลักเพื่อจัดทำแผนโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อการลดต้นทุน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงฐานการผลิตในพื้นที่ EEC กับประตูการค้าในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ภาคใต้ที่เชื่อมโยงสองฝั่งทะเล (อ่าวไทย -อันดามัน)

นอกจากนี้ยังเป็นการนำเสนอข้อมูลเพิ่มประสิทธิภาพระบบโครงข่ายการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงระหว่าง EEC และประตูการค้าในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดระนอง ให้สอดคล้องกับความต้องการและสภาพข้อเท็จจริง ซึ่งโครงการจัดทำแผนโลจิสติกส์ที่ สนข. เร่งศึกษาครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยช่วยยกระดับประเทศ เปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ เชื่อมโยงขนส่งระหว่างฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยและฝั่งทะเลด้านอันดามัน

รวมทั้งแนวคิดพัฒนาเส้นทางการขนส่งเชื่อมอีอีซี กับประตูการค้าจังหวัดระนอง สนข.กำหนดใช้โครงข่ายคมนาคมหลายรูปแบบ โดยในช่วงที่ 1 จะพัฒนาเส้นทางการขนส่งเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างท่าเรือใน EEC กับท่าเรือฝั่งอ่าวไทยใน SEC ซึ่งรัฐบาลมีโครงการพัฒนาขีดความสามารถของท่าเรือชุมพร เป็นท่าเรือน้ำลึก รองรับตู้สินค้าขนาดใหญ่

หลังจากนั้นแผนพัฒนาช่วงที่ 2 จะพัฒนาเส้นทางการขนส่งเชื่อมโยงทางบก ระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยกับท่าเรือฝั่งอันดามัน โดยมีโครงข่ายทางถนนและรถไฟเชื่อมต่อเนื่องระหว่างท่าเรือทั้งสองฝั่ง ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาโครงข่ายรถไฟเส้นทางใหม่ เชื่อมต่อท่าเรือชุมพร และท่าเรือระนอง รวมทั้งยังมีโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายชุมพร–ระนอง