เคาะราคาไลเซ่นส์ดาวเทียมแล้ว -ดีเดย์ประมูลไม่เกิน มี.ค.64

เคาะราคาไลเซ่นส์ดาวเทียมแล้ว -ดีเดย์ประมูลไม่เกิน มี.ค.64

คาดทำเงินเข้ารัฐรวม 2.2 พันล้านบาท แจงเกณฑ์ตามประกาศ 4 แพคเก็จ แบ่งจ่าย 3 งวด ต้องสร้างดาวเทียมภายใน 3 ปี

กสทช.คลอดราคาประมูลไลเซ่นดาวเทียมแล้ว คาดเบื้องต้นทำเงินเข้ารัฐรวม 2,200 ล้านบาท แจงเกณฑ์ตามประกาศ 4 แพคเก็จ แบ่งจ่าย 3 งวด ต้องสร้างดาวเทียมภายใน 3 ปี มั่นใจหากไม่มีอุปสรรคจะสามารถเปิดประมูลได้ไม่เกิน มี.ค. 2564 ขณะที่เอกชนทั้งไทย-เทศ ต่างสนใจ เหตุสามารถให้บริการได้ทันที ลดขั้นตอนการประสานงานวงโคจร เปิดโอกาสเพิ่มผู้ประกอบการดาวเทียม

พล.อ.ท. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช.เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (แพคเก็จ) เพื่อรับฟังความคิดเห็น ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา

โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2563 จากนั้นภายใน 30 วัน คือวันที่ 15 ม.ค.2564 จะเผยแพร่ร่างฯและประมวลผลความคิดเห็นคู่ขนานกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนนำเสนอคณะกรรมการกสทช.ไม่เกินต้นเดือน ก.พ. 2564 คาดว่าสามารถเปิดประมูลได้ไม่เกินเดือนมี.ค. 2564

สำหรับราคาเริ่มต้นการประมูลของทั้ง 4 ชุด รวมมูลค่า 2,207.939 ล้านบาท นั้น ประกอบด้วย ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และ วงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาขั้นต่ำ 728.199 ล้านบาท , ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R) ราคาขั้นต่ำ 366.488 ล้านบาท ,ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และ วงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาขั้นต่ำ 748.565 ล้านบาท และชุดที่ 4 ประกอบด้วย วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และ วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) ราคาขั้นต่ำ 364.687 ล้านบาท

ทั้งนี้การประเมินราคาขั้นต่ำนั้น คำนวณตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงในการให้ได้มาซึ่งเอกสารข่ายงานดาวเทียมในแต่ละข่ายงาน เช่น มูลค่าเริ่มต้นในการขอข่ายงาน หรือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) เป็นต้น รวมกับมูลค่าโอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจ ทำให้ข่ายงานที่อยู่ในขั้นสมบูรณ์มีมูลค่ามากกว่าขั้นต้น เนื่องจากสามารถสร้างและส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรเพื่อประกอบการได้ทันที เมื่อเทียบกับที่ต้องดำเนินการตั้งแต่แรกต้องใช้เวลาประมาณ 7 ปี ถึงจะได้มาซึ่งวงโคจรขั้นสมบูรณ์ที่พร้อมใช้งาน โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องสร้างดาวเทียมเพื่อให้บริการภายใน 3 ปี

ส่วนการชำระค่าใบอนุญาตแบ่งชำระเป็น 3 งวด คือ ปีที่ 1 จ่าย 10% ปีที่ 4 จ่าย 40% และปีที่ 6 จ่าย 50% อายุใบอนุญาต 20 ปี นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ใช้สิทธิการใช้วงโคจรดาวเทียมรายปีในอัตรา 0.25 % ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย รวมทั้งค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ในอัตราไม่เกิน 1.5 % และ ค่าธรรมเนียม USO ในอัตรา 2.5 % ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่เกี่ยวกับการประสานงานคลื่นความถี่ และตามที่ ไอทียู เรียกเก็บอีกด้วย

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวว่า แพคเก็จชุดที่ 3 มีราคาแพงที่สุด เนื่องจากเป็นดาวเทียมใช้สำหรับการให้บริการบรอดแบนด์ ดังนั้นต่างชาติจึงสนใจเข้ามาจำนวนมาก แต่ในวงโคจร 119.5 ต้องรออายุทางวิศวกรรมของไทยคม 4 หมดลงในปี 2566 ก่อน ถึงจะใช้งานได้ ดังนั้นแพ็กเกจชุดที่ 1 จึงมีราคาน่าสนใจรองลงมาเพราะเป็นชุดที่มีความพร้อมที่สุดสามารถใช้งานได้ทันที แต่ผู้ชนะการประมูลต้องทำตลาดในประเทศแถบอาหรับเนื่องจากวงโคจรให้บริการในพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่ชุดที่ 2 ก็มีความน่าสนใจตรงที่เป็นตรงโคจรที่ให้บริการอยู่ในประเทศไทย เหมาะกับกลุ่มคนที่ทำตลาดในเมืองไทย ส่วนชุดที่ 4 วงโคจรอยู่แถบแปซิฟิก ดังนั้นบริการที่สามารถให้บริการได้จะเป็นบริการดาวเทียมสำหรับเรือ

“ตอนนี้คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าประมูลทั้งไทยและต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น ไทยคม ,ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ที่จะรวมกันเป็นเอ็นที ,มิวสเปซ , อินเทล แซท และ เอเชีย แซท ยังไม่รวมถึงรายใหม่ที่เป็นบริษัทคนไทยอาจจะร่วมลงทุนกับต่างชาติเพื่อเข้ามาประมูลอีก การประมูลครั้งนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสสำหรับทั้งรายใหม่และรายเก่าในการทำธุรกิจดาวเทียมง่ายกว่าเดิมเพราะกสทช.มีวงโคจรพร้อมใช้งานให้แล้ว”

ส่วนวิธีการคัดเลือกนั้นแม้ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องใช้วิธีการประมูล อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสร้างสมดุลในเรื่องการรักษาสิทธิและประโยชน์ที่ประเทศชาติ และประชาชนจะได้รับ จึงได้กำหนดวิธีการคัดเลือกเป็น 2 ขั้นตอน คือ การพิจารณาข้อเสนอด้านประสบการณ์และความสามารถในการดำเนินการ จากนั้นจะพิจารณาด้านราคาหากใครให้ราคาสูงสุดเพียงรายเดียวในแต่ละแพ็กเกจจะเป็นผู้ชนะ หากมีผู้เสนอราคาเท่ากัน ต้องมีการเสนอราคาในครั้งที่ 2 เพื่อหาคนที่เสนอราคาสูงที่สุด