ธ.ก.ส.ชี้แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรขยับ

ธ.ก.ส.ชี้แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรขยับ

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ และการเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรเดือนธันวาคม 2563 ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง กุ้งขาวแวนนาไม และสุกร มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนธันวาคม 2563 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.64 - 7.66 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.20 - 0.50 เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์จะเพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์และการส่งออกอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีซึ่งเป็นเทศกาลท่องเที่ยวและปีใหม่ ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 54.85–57.85 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.13 – 5.60 เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราภายในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดน้อยลงจากการขาดแรงงานกรีดยาง ประกอบกับภาคใต้ของประเทศไทยในช่วงครึ่งเดือนแรกอาจมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยางของชาวสวนยางพารา รวมถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.84 - 1.89 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.55 – 3.28 เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลผลิตปี 2563/64 ผลผลิตยังออกสู่ตลาดไม่มาก ประกอบกับสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเก็บเกี่ยวและส่งผลทำให้คุณภาพเชื้อแป้งในหัวมันสำปะหลังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้นของประเทศจีนเพื่อนำไปใช้ผลิตเอทานอลทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ราคาสูงและมีปริมาณสต็อกคงเหลือลดลง กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 136.25 – 137.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนร้อยละ 0.18 – 0.74 เนื่องจากความต้องการในการบริโภคเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลการท่องเที่ยวตามมาตรการวันหยุด และเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ ประกอบกับเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยจากอากาศที่เริ่มเย็นลงทำให้กุ้งเจริญเติบโตช้า อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยเสี่ยงจากราคากุ้งโลกกดดันราคาในประเทศให้ลดลง และสุกร ราคาอยู่ที่ 76.65 – 76.70 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.59–1.66 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ได้แก่ มาตรการคนละครึ่ง และมาตรการช้อปดีมีคืน ผนวกกับใกล้ช่วงเทศกาลวันหยุดและการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ทำให้คนไทยเริ่มออกมาใช้จ่ายรวมถึงการบริโภคสุกรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มราคาสุกรเพิ่มขึ้น

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 7,959 - 8,024 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 3.03-3.97 ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 9,103 - 9,346 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 9.11-11.48 และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 9,839 - 9,952 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.03 - 3.14 เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี โดยผลผลิตปีนี้คาดว่าจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา และโรงสีบางแห่งประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องหรือปัญหาขาดทุน ทำให้ชะลอหรือหยุดการรับซื้อข้าวจากชาวนา ประกอบกับค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันราคาส่งออกข้าวไทยลดลง น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคา อยู่ที่ 15.06 - 15.12 เซนต์/ปอนด์ (10.12 - 10.16 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.60 - 1.00 เนื่องจากค่าเงินเรียลบราซิลอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ กระตุ้นให้ผู้ผลิตน้ำตาลของบราซิลส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น และบราซิลได้เพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตน้ำตาลเป็นร้อยละ 63 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ แนวโน้มการผลิตและการส่งออกน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นของประเทศอินเดียยังเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำตาล โดยคาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลของประเทศอินเดียในปีการผลิต 2563/64 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 หรือคิดเป็น 33.76 ล้านตัน และการส่งออกน้ำตาลของประเทศอินเดียจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 หรือคิดเป็น 6.0 ล้านตัน และปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 6.00 - 6.15 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 8.89 - 11.11 เนื่องจากสต็อกน้ำมันปาล์มดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาปาล์มน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรบางส่วนเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ โรงงานสกัดจึงรับซื้อผลผลิตในราคาที่ต่ำลง