ฝ่ายค้าน นัดถกส่งตัวแทนร่วมกรรมการสมานฉันท์ 4 ธ.ค.

ฝ่ายค้าน นัดถกส่งตัวแทนร่วมกรรมการสมานฉันท์ 4 ธ.ค.

ฝ่ายค้าน นัดถกส่งตัวแทนร่วมกรรมการสมานฉันท์ 4 ธ.ค. ติงควรทำอะไรมากกว่าแค่การตั้งคณะกรรมการ

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวถึงการถอนร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. … ของฝ่ายค้าน หลังรัฐสภารับหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. ของรัฐบาลเมื่อวานนี้ (1 ธ.ค.) ว่า เมื่อวานเป็นการรับหลักการของร่างรัฐบาล แต่ของฝ่ายค้านต้องดูอีกระยะหนึ่ง เพื่ออยากให้ได้ข้อสรุปว่ากฎหมายเช่นนี้ต้องมีคนชี้ชัดว่าเป็นการปฏิรูปประเทศหรือไม่ และควรจะเข้าสภาอะไร เรื่องการถอนเราไม่ติดใจแต่การที่ยื่นไปทางสภาผู้แทนราษฎร เพื่ออยากเป็นกรณีที่มีหน่วยงานหรืองค์กรมาชี้เพื่อเป็นบรรทัดฐานในอนาคต และหากได้ความชัดเจนก็อาจจะถอนก็ได้ 

เมื่อถามต่อว่า จำเป็นต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ก็น่าจะถึงขั้นนั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็กแล้วทำเป็นเรื่องใหญ่แต่เราต้องการสร้างบรรทัดฐาน เนื่องจากหวั่นว่ารัฐบาลจะเสนอกฎหมายปฏิรูปประเทศเข้ามามั่วๆ อีกหลายฉบับ ทั้งนี้คงไม่กระทบกับร่างพ.ร.บ.ประชามติของรัฐบาล เนื่องจากเรายื่นตีความเฉพาะของร่างฝ่ายค้าน ว่ามาถูกทางหรือไม่ ถ้าศาลชี้ว่าของเราที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรผิดก็ให้ยึดร่างของรัฐบาลให้เดินหน้าต่อ แต่ถ้าบอกว่าร่างของเราเข้ามาถูกแล้วนั้น เรื่องนี้จะจบอย่างไรก็ยังไม่รู้ อย่างไรก็ตามการไม่ยื่นร่างของรัฐบาลเนื่องจากอยากให้ร่างที่รับหลักการเดินหน้าไป ไม่สะดุด และการยื่นร่างของฝ่ายค้านก็จะได้คำตอบไปยังร่างของรัฐบาลด้วย ทั้งนี้เราอยากได้การทำประชามติ เพราะตามหลักการต้องทำและต้องรวดเร็ว แต่จะต้องไม่ผิดไม่สร้างบรรทัดฐานที่จะมีปัญหาในอนาคต. 

สำหรับการส่งบุคคลเข้าเป็นกรรมการสมานฉันท์ในนามฝ่ายค้าน นายสุทิน กล่าวว่า ตนได้รับหนังสือจากประธานสภาผู้แทนราษฎรถึงเรื่องการส่งตัวแทนร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์แล้ว ซึ่งตนจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมร่วมฝ่ายค้านในวันที่ 4 ธ.ค. นี้ ซึ่งการจะร่วมหรือได้ชื่อคนหรือไม่นั้นต้องรอดูมติอีกครั้ง

เมื่อถามว่าจะต้องฟังเสียงผู้ชุมนุมว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ เพราะยังหาช่องทางการเชิญผู้ชุมนุมเข้าร่วมยังไม่ได้ นายสุทิน กล่าวว่า จากเสียงของที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านเขาไม่ได้ปฏิเสธ แต่อยากจะดูท่าทีของผู้ชุมนุก่อนเพราะเป็นกลุ่มสำคัญและฝ่ายอื่นๆ จะเข้าร่วมด้วยหรือไม่ ทั้งนี้หากผู้ชุมนุมและฝ่ายอื่นๆ เข้าร่วม พรรคฝ่ายค้านก็คงจะไม่มีปัญหา ส่วนกรณีที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.พลังประชารัฐ เสนอให้มีการตั้งกมธ.เพื่อพูดคุยหาทางออกนั้น เป็นอีกแนวทางที่ฝ่ายค้านได้เสนอ ซึ่งบทบาทของสภาที่ทำหรือเป็นเวทีในรูปกมธ. ให้คู่ขัดแย้งมาพูดคุยกัน และหลายคนมองว่าควรทำในลักษณะนี้มากกว่าตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ส่วนรูปแบบกรอบประเด็นที่จะพูดคุยนั้นยังอีกไกล

เมื่อถามว่ามีความกังวลในการชุมนุมของกลุ่มราษฎรหรือไม่ หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลเป็นบวกกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายสุทิน กล่าวว่า ตนกังวลหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลการตัดสินจะทำให้เกิดการยกระดับหรือลดระดับการชุมนุมพอสมควร แต่ที่สำคัญคือห่วงมาตรฐาน การยอมรับในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ เพราะที่ผ่านมาปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาคือการไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่ได้บอกว่ากระบวนการยุติธรรมถูกหรือผิดแต่มีการไม่ยอมรับเกิดขึ้น ดังนั้นการตัดสินในวันนี้จะส่งผลให้ดีขึ้นและแย่ลง ทั้งนี้แม้แม้พล.อ.ประยุทธ์ จะรอดหรือไม่รอดนั้น การให้นายกฯ ลาออกก็ยังเป้นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม