‘HIV’ หยุดตรวจ = หยุดตีตรา

‘HIV’ หยุดตรวจ = หยุดตีตรา

มากกว่าความ “เหลื่อมล้ำ” คือการถูกตัดตอนความฝัน กรงขังโอกาสที่เรียกว่า “การบังคับตรวจ HIV” ปิดตายกลุ่มผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ให้เดินต่อไม่ได้แม้ศักยภาพในตัวมีเปี่ยมล้น

ภาพจำและความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ HIV กลายเป็นกำแพงระหว่างพวกเขากับคนปกติ เหนือไปกว่ากำแพงนั้นคือกติกาบางอย่างที่สังคมสร้างขึ้นเพื่อ “กีดกัน” โดยอ้างคำว่า “ป้องกัน” จนกระทั่ง ผู้ติดเชื้อ HIV จำนวนมากไม่มีแม้แต่โอกาสจะเดินตามความฝัน หรืออย่างง่ายที่สุดคือแค่จะประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเองยังทำไม่ได้

  • “ตรวจเชื้อ” ย้ำความเชื่อผิดๆ

หลายคนยังเข้าใจว่าผู้มีเชื้อ HIV คือคนเป็น “โรคเอดส์” ไปเสียหมด มิหนำซ้ำยังอาจคิดด้วยว่าสถานะผู้ติดเชื้อและผู้อยู่ร่วมกับเชื้อที่พวกเขาได้รับนั้นเกิดจากความไม่รับผิดชอบ การมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย การใช้เสพยาเสพติดโดยใช้เข็มร่วมกัน และอีกสารพัดความเชื่อ

ทั้งที่จริงๆ แล้วเชื้อ HIV คือเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน เป็นสาเหตุให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ถ้าไม่รักษาจะป่วยเป็นโรคเอดส์ ส่วนโรคเอดส์คือการติดเชื้อ HIV ระยะสุดท้าย โดยระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายจนต้านทานโรคต่างๆ ไม่ได้อีกต่อไป หมายความว่า ผู้มีเชื้อ HIV ดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เพียงต้องดูแลตัวเองและปฏิบัติตามแพทย์สั่ง รวมถึงการกินยา Antiretroviral (ARV) เป็นประจำ HIV จึงไม่ได้น่ากลัวหรือน่ารังเกียจอย่างที่หลายคนเข้าใจ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือ เมื่อผู้ติดเชื้อ HIV เข้าสู่วัยทำงาน ก็ใช่ว่าจะได้รับโอกาสทำงานเท่าเทียมกับคนปกติ แม้พวกเขาจะมีศักยภาพมากก็ตาม

พิณ หนึ่งในผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ HIV ราว 17 เปอร์เซ็นต์ ต้องเป็นบุคคลว่างงาน เพราะถูกกฎเกณฑ์เข้ามากีดกัน นั่นคือ “การตรวจเชื้อ HIV” ก่อนเข้าทำงาน โดยอาชีพที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว เช่น ทหาร ตำรวจ พนักงานบริษัทด้านอาหาร พนักงานประกันชีวิต เป็นต้น

เธอเล่าถึงกรณีของตัวเธอเองที่ไม่มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน ต้องหยุดอยู่แค่การเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ความต้องการที่จะหาความมั่นคงให้แก่ชีวิตด้วยการบรรจุเป็นพนักงานประจำ ไม่มีทางเกิดขึ้นเพราะก่อนที่จะบรรจุต้องมีการตรวจหาเชื้อ HIV ซึ่งหมายความว่าเธอ “หมดสิทธิ์!”

“ตอนนั้นเริ่มจากการแพนิคที่ว่าตัวเองทำงานพาร์ทไทม์ร้านอาหารแห่งหนึ่งมาตั้งแต่อายุ 18 ปี และไม่ได้มีปัญหาในการทำงาน แต่เราพอรู้ว่าบริษัทที่เราทำงานอยู่มีการตรวจ HIV แต่เริ่มแรกเข้าไปสมัครทำงานพาร์ทไทม์เลยไม่ได้มีปัญหาเพราะไม่มีการตรวจ แต่พอเข้าสู่วัย 25 ปี ก็ต้องการความมั่นคงในชีวิต ทางผู้จัดการร้านสนใจอยากปรับให้เราเป็นพนักงานประจำ นั่นหมายถึงการต้องตรวจเชื้อ HIV ด้วยแน่ๆ เราเลยรู้สึกว่าจะก้าวข้ามไปอย่างไรดีหรือควรจะอยู่แค่ตรงนี้ ตอนนี้ก็เลยยังไม่กล้าที่ตัดสินใจก้าวข้าม โดยปรับเป็นพนักงานประจำหรือว่าเอาความมั่นคงของชีวิตตัวเองไปเสี่ยงตรงนั้น”

สิทธิ์ที่ถูกตัดไป คือการตีตราในการตีตราซ้อนอีกทีหนึ่ง นอกจากภาพที่คนภายนอกมองเข้ามาแล้ว การถูกเลือกปฏิบัติทำนองนี้คือการย่ำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ไม่มีหนทางโดยสมบูรณ์ ในกรณีของ “พิณ” ที่ทำงานในธุรกิจอาหาร เธอเคยสอบถามผู้ประกอบการในสายงานเดียวกันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะให้ผู้ประกอบการเปิดใจ คำตอบที่ได้คือ ถ้าสังคมเข้าใจ ผู้ประกอบการก็พร้อมที่จะเปิดใจ ทว่าความจริงอันโหดร้ายคือสังคมยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่มากพอ ผู้ประกอบการส่วนมากจึงยังไม่กล้าเสี่ยง

160682532151

  • โปร “เกิน” ตรวจสุขภาพ

เรื่อง “การตรวจ HIV ก่อนเข้าทำงาน” อาจคล้ายว่าเป็นเรื่องของ “ลูกจ้าง” กับ “นายจ้าง” เพียงเท่านั้น ทว่าอันที่จริงยังมีอีกตัวละครเกือบจะลับแต่ไม่ลับอยู่ในห่วงโซ่นี้ นั่นคือ “สถานพยาบาล” ที่มักจะจัดโปรแกรมตรวจสุขภาพให้แบบโปร “เกิน”

“จากการสอบถามฝั่งผู้ประกอบการก็พบว่าบางอย่างไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานประกอบการอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลด้วยเช่นกัน” พิณ เล่าให้ฟัง เพราะสถานพยาบาลบางแห่งขายโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปีให้ โดยแถมการตรวจเชื้อ HIV ให้ด้วย

“จริงๆ แล้วในโปรแกรมมันไม่ควรจะมีการตรวจที่เสนอขายเป็นตัวแถมแบบนี้ ซึ่งสิทธิการจะตรวจ HIV ได้คนไข้ต้องยินยอม แล้วผลตรวจควรจะส่งตรงถึงคนไข้ไม่ใช่ฝ่าย HR ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในการเปิดเผยข้อมูลของคนไข้ เราจึงพยายามที่จะผลักดันหลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่ด้วย”

สิ่งที่พิณและกลุ่มผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV กำลังต่อสู้และยืนกรานว่าต้องเกิดขึ้น คือ ยกเลิกการเลือกปฏิบัติและกีดกันการประกอบอาชีพของผู้ติดเชื้อและผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ ยกเลิกการตรวจ HIV ของสถานประกอบการก่อนรับเข้าทำงาน ซึ่งเธอย้ำว่าเป็นการละเมิดสิทธิ รวมถึงให้สถานพยาบาลเลิกแถมโปรแกรมที่ทำลายอนาคตและโอกาสของพวกเธอเสียที

160682532094

  • สู้เพื่อสิทธิ์

การต่อสู้ของกลุ่มนี้อาจไม่ใช่การป่าวร้องหรือใช้ท่าทีแข็งกร้าว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงผลักดันของการลุกขึ้นสู้ก็คือความกดดันของความไม่เท่าเทียมที่พวกเขาและเธอได้รับ

ไม้คิว เป็นอีกคนหนึ่งที่ลงมาทำงานเพื่อสร้างพื้นที่แห่งโอกาสให้แก่ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV เขาอาจไม่ใช่คนมีฝันที่ถูกสร้างรั้วกั้นแบบคนอื่นๆ เพราะสิ่งที่เรียนกับอาชีพในอนาคต คือ เรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาและการเป็น “นักพัฒนาสังคม” ไม่ได้ห่างกันเท่าไร

“ประเด็นปัญหาที่เราเจอทำให้เรามองเห็นสังคมที่หลากหลาย และการเข้าไม่ถึงสิทธิหรือคนบางกลุ่มที่ถูกกีดกันออกไป จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากมาทำงานตรงนี้ อาจจะไม่เฉพาะ HIV แต่ยังมีเด็กและเยาวชนกลุ่มอื่นๆ อีกที่ถูกกีดกัน”

สำหรับภาพรวมของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ทั้งประเทศที่กลุ่มเก็บข้อมูล ไม้คิวอธิบายว่ามีทั้งเรื่องการถูกละเมิดสิทธิ ในการเข้าเรียน ทำงาน และการเลือกปฏิบัติในโรงพยาบาล รวมไปถึงสุขภาพจิต ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเขามองว่ากระทบถึงกันหมด พวกเขาติดตามสมาชิกที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV มาตั้งแต่เด็กๆ พอโตขึ้นหลายคนก็เผชิญปัญหาการถูกตีตรา จนเก็บมาเป็นปมในใจ ซึ่งเป็นการรับรู้ในวัยเด็ก พอโตขึ้นถึงจะได้รับความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ ว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่เหมือนอะไรกำลังจะดี พอเจอสังคมภายนอกจริงๆ กลายเป็นว่าไม่ได้เหมือนในห้องเรียน กลายเป็นทำให้รู้สึกแย่ไปอีก ตอกย้ำความคิดว่า “ไม่เหมือนคนอื่น ทำงานอย่างที่อยากทำไม่ได้”

“มันเป็นการตอกย้ำให้รู้สึกแย่ แย่ต่อที่หนึ่งก็คือ รู้สึกแย่ว่าทำไมพ่อแม่ต้องจากเราไป ทำไมไม่มารับชะตากรรมด้วยกัน เพราะเด็กที่อยู่ร่วมกับเชื้อตั้งแต่เกิดส่วนใหญ่ยุคนั้นพ่อแม่จะเสียชีวิต และส่วนใหญ่จะไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ มีเคสหนึ่งที่เขารู้สึกแย่มากๆ จนนาทีสุดท้ายของชีวิต เขาบอกว่าพ่อแม่ไม่น่าให้เขาเกิดมาเลย ซึ่งเป็นความสัมพันธ์เชิงครอบครัวที่รู้สึกแย่

แล้วพอมาต่อที่สองรู้สึกแย่จากสังคมที่เขาไม่ได้ยอมรับเราจริงๆ เราทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับความฝันของเราไม่ได้ เราฝันอยากจะเป็นเชฟหรือฝันอยากจะเป็นทหาร ก็ไม่สามารถที่จะไปถึงฝันได้ ยิ่งทำให้สุขภาพจิตแย่ไปอีก ซึ่งข้อมูลนี้จะสอดคล้องกันว่าเขาถูกละเมิดสิทธิ สังคมไม่ได้เปิดรับ สร้างความรู้สึกแย่กับตัวเอง และการที่เขาไว้วางใจใครสักคนก็คิดว่าน่าเป็นคนในกลุ่มด้วยกันเอง อาจเป็นเพราะเผชิญปัญหาเช่นเดียวกัน ทำให้เข้าใจกัน ไม่ใช่แค่ว่ามาทำกิจกรรมแล้วจบ แต่เรามีการสานสัมพันธ์ สร้างพลังต่อเข้าไปอีก”

คงถึงเวลาแล้วที่สังคมจะเข้าใจเชื้อ HIV เสียใหม่ และหมดเวลาการ “ตีตรา” ด้วยการสร้างเงื่อนไขที่ผลักไสให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อต้องละทิ้งความฝัน การตรวจเชื้อ HIV ก่อนเข้าทำงานไม่ใช่คำตอบของปัญหา ความตระหนักรู้และมอง “ทุกคน” เท่ากันต่างหาก คือคำตอบ

ทำอย่างไรจะให้คนในสังคมเข้าใจคนที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ว่าเขาสามารถอยู่ได้ และไม่ได้เป็นตัวอันตรายสำหรับใคร” พิณ ฝากคำถามซึ่งเธอรู้คำตอบดี แต่ไม่แน่ใจว่าสังคมนี้รู้หรือไม่