ย้อนอดีตอาถรรพ์ 2 ธ.ค. 'นายกรัฐมนตรี' ตกเก้าอี้

ย้อนอดีตอาถรรพ์ 2 ธ.ค.  'นายกรัฐมนตรี' ตกเก้าอี้

'สมชาย วงศ์สวัสดิ์' เจอกลุ่มคนเสื้อเหลืองชุมนุมขับไล่และตกเก้าอี้นายกฯในวันที่ 2 ธ.ค.2551 ผ่านมา 12 ปี เกิดม็อบคณะราษฎร แผดเสียง "ประยุทธ์ ออกไป" และศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินความเป็นนายกฯ 2 ธ.ค. ดูเหมือนกงล้อประวัติศาสตร์กำลังเล่นตลกอีกครั้ง

เหมือนกงล้อประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยจะเล่นตลกอีกครั้ง ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้วันที่ 2 ธ.ค.เป็นวันพิพากษาว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหรือไม่ จากกรณีอาศัยบ้านพักในค่ายทหารหลังจากเกษียณอายุราชการ ซึ่งอาจเข้าข่ายการรับประโยชน์อื่นใดที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ อันอาจมีผลให้คุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

ในแง่มุมของเนื้อหาสาระของคดีนี้นอกจากจะเป็นที่น่าสนใจเพราะไม่ว่าคดีนี้จะตัดสินออกมาอย่างไรก็จะเป็นบรรทัดฐานในอนาคตแล้ว ยังมีความน่าสนใจตรงเรื่องประวัติศาสตร์ทางการเมืองว่าด้วยวันที่ 2 ธ.ค.ด้วย เนื่องจากย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีที่แล้ว วันที่ 2 ธ.ค. เป็นวันที่ทำให้นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ 'สมชาย วงสวัสดิ์' ตกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

ย้อนกลับไปดูประเทศไทยเมื่อปี 2551 ตลอดเกือบทั้งปีเต็มไปด้วยการชุมนุมขับไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนของ 'พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย' เวลานั้นมีทั้งการยึดทำเนียบรัฐบาล สนามบินดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

'สมชาย วงศ์สวัสดิ์' ขึ้นชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่เคยได้เข้าทำงานในทำเนียบรัฐบาล และถูกต่อต้านจากกลุ่มผู้ชุมนุม การชุมนุมกินเวลาเกือบครึ่งปีแม้จะสร้างแรงกดดันทางการเมืองได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มีผลให้ 'สมชาย' ออกจากตำแหน่งได้ แต่ในระหว่างนั้นหลายฝ่ายก็จับตาไปยังคดีทุจริตเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชนที่ทำให้ 'ยงยุทธ ติยะไพรัช' กรรมการบริหารพรรค โดนใบแดงด้วยคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งและต้องออกจากตำแหน่งประธานรัฐสภา

ผลจากใบแดงในคดีนั้นนำมาสู่การขยายผลไปสู่คดียุบพรรคการเมือง การทำคดีนี้ของทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งและอัยการสูงสุดใช้เวลานานอยู่พอสมควร จนถึงที่สุดแล้วอัยการสูงสุดได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน

เวลานั้นยังไม่มีไทมไลน์ชัดเจนว่ากระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลานานเท่าไหร และไม่คาดคิดด้วยซ้ำว่าวันที่ 2 ธ.ค.จะเป็นวันตัดสิน เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันแถลงปิดคดี แต่ปรากฎว่าวันนั้นไม่มีตัวแทนของพรรคพลังประชาชนมาแถลงปิดคดี มีแต่เพียง 'บรรหาร ศิลปอาชา' หัวหน้าพรรคชาติไทย และ 'อนงค์วรรณ เทพสุทิน' หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งถูกยื่นยุบพรรคเหมือนกันมาแถลงปิดคดี

การนัดแถลงปิดคดีตอนเช้าและฟังคำวินิจฉัยตอนบ่าย สร้างความตกตะลึงให้กับตัวแทนของสองพรรคการเมืองที่เดินทางมาศาลพอสมควร หลายคนเดินออกมาจากห้องพิจารณาคดีเพื่อรอฟังคำวินิจฉัยตอนบ่ายต่างจับกลุ่มพูดคุยและพอจะรู้ถึงอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น

ความตึงเครียดทางการเมืองไม่ได้มีแต่เพียงการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะแรงกดดันนอกศาลรัฐธรรมนูญก็แรงไม่แพ้กัน โดยเวลานั้นเริ่มมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่สนับสนุนรัฐบาลออกมารวมตัวเพื่อกดดันศาลรัฐธรรมนูญ เดิมทีศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดีที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแถวพาหุรัด แต่เมื่อสถานการณ์นอกศาลเริ่มมีทีท่าจะแรงขึ้น ทำให้ต้องย้ายสถานที่นัดแถลงปิดคดีมาที่สำนักงานศาลปกครองแทน พร้อมด้วยการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

'ศาลรัฐธรรมนูญ' กลายเป็นเป้าทางการเมืองและถูกโจมตีอย่างหนักหน่วง เพราะในปี 2551 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีที่ส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาลถึงสองกรณี ได้แก่ 1. การวินิจฉัยให้ 'สมัคร สุนทรเวช' พ้นจากการเป็นนายกฯ  และ 2.การชี้ขาดว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่สนับสนุนให้กัมพูชาเสนอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสองซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

เมื่อมาถึงคดีของพรรคพลังประชาชน ทำให้ในวันที่ 2 ธ.ค.ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเริ่มอ่านคำวินิจฉัย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องแจ้งต่อผู้ที่มาฟังคำวินิจฉัยศาลอย่างเป็นทางการว่า "การทำงานของศาลเป็นอิสระไม่มีการแทรกแซงหรือกดดันศาล ซึ่งศาลจะวินิจฉัยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเอาไว้ และในสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นเช่นนี้ คำวินิจฉัยของศาลย่อมจะส่งผลให้มีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ก็ขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นและยอมรับคำวินิจฉัยตามระบอบการปกครองโดยกฎหมาย" ซึ่งมีไม่บ่อยครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการแสดงออกเช่นนี้

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีพรรคพลังประชาชนมี 3 ประเด็น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไล่อ่านทีละประเด็น ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง การอ่านคำวินิจฉัยก็สิ้นสุดลงพร้อมกับบทสรุปสองข้อสำคัญ คือ ยุบพรรคพลังประชาชนและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน

คำวินิจฉัยที่ออกมาทำให้ 'สมชาย วงศ์สวัสดิ์' ในฐานะหัวหน้าพรรค ต้องพ้นจากตำแหน่ง และ เป็นการสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่ไม่เคยเข้าทำเนียบรัฐบาล และถัดมาแกนนำพันธมิตรฯประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 3 ธ.ค.

วันนี้สถานการณ์ของ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' มีความเหมือนและแตกต่างจากอดีตนายกฯสมชายอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการเผชิญแรงกดดันทางการเมืองจากกลุ่มผู้ชุมนุมเช่นเดียวกัน แต่บทสรุปจะลงเอยเหมือนกันหรือไม่ คนไทยจะเห็นคำตอบพร้อมกัน 2 ธ.ค.