'วัคซีนโควิด' เมื่อไรจะได้ฉีด

'วัคซีนโควิด' เมื่อไรจะได้ฉีด

หลังจากมีข่าวคราวของความคืบหน้าของ "วัคซีนโควิด-19" ออกมาอย่างต่อเนื่อง ประเด็นคำถามที่ตามมาคือ แล้วเมื่อไรจะได้มีโอกาสฉีดวัคซีนโควิด? และขณะนี้มีบริษัทใดบ้างที่มีความคืบหน้าเรื่องนี้บ้าง?

ความหวาดหวั่นในการกลับมาระบาดอีกครั้งของโรคโควิดอยู่ในใจของคนไทย เมื่อมีข่าวว่ามีวัคซีนป้องกันแล้ว ประสิทธิผลถึง 90% และมีหลายวัคซีนด้วย จึงอดไม่ได้ที่จะดีใจ ภาวนาอย่างเดียวว่าขอให้รอดพ้นภัยไปจนถึงได้ฉีดวัคซีนก็แล้วกัน ดังนั้น เรื่องที่คนสนใจกันมากในปัจจุบันคือวัคซีนโควิด-19 และเมื่อใดจะได้มีโอกาสฉีด

โลกในขณะนี้มีความพยายามคิดค้นหาวัคซีนกันอยู่ถึง 179 ตัว ในจำนวนนี้มีอยู่ 144 ตัวที่อยู่ในขั้นพื้นฐานของการประเมินก่อนนำไปสู่การทดลองในมนุษย์ ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีอยู่ 35 ตัวที่อยู่ในขั้นตอนทดลองกับคน การแข่งขันอย่างดุเดือดของการค้นหาวัคซีนป้องกันโรคใหม่เช่นโควิด-19 ทำให้ช่วงเวลาปกติของการค้นหาคือ 10 ปีหรือกว่านั้น ย่นย่อเหลือไม่ถึง 1 ปี

ข่าวแรกสุดของการพบวัคซีนคือ เมื่อประมาณเดือน ต.ค.ที่ว่ารัสเซียผลิตวัคซีนได้แล้วแต่โลกก็รู้สึกเฉยๆ ไม่ตื่นเต้นเพราะไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นการชิงประกาศเร็วเกินไปเพราะยังไม่ได้ผลการทดลองขั้นสุดท้ายกับมนุษย์ สิ่งสำคัญที่สุดคือยังไม่ได้เปิดเผยหรือรายงานข้อมูลทั้งหมดให้แก่องค์กรที่น่าเชื่อถือ เช่น FDA ของสหรัฐ และ EMA ของยุโรป 

ต่อมาเมื่อต้น พ.ย.ปีนี้หลังเลือกตั้งในสหรัฐไม่กี่วัน กลุ่ม Pfizer-BioNTech (ชื่อแรกเป็นบริษัทยาของสหรัฐและชื่อหลังของเยอรมนี ที่จริง Fosun Pharma ของจีนก็ร่วมทีมด้วย) ประกาศว่าพบวัคซีนแล้วมีประสิทธิผลกว่า 90% ต้องฉีด 2 เข็ม ข้อเสียก็คือต้องเก็บวัคซีนในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ต้องมีอุปกรณ์เก็บรักษาพิเศษ ฉีดแล้วป้องกันได้ 1 ปี ขณะนี้ได้ยื่นข้อมูลการทดลองให้แก่ FDA เพื่อขออนุมัติ คาดว่าจะเริ่มฉีดได้ ธ.ค.ปีนี้ โดยจะผลิตได้ 520 ล้านโดส (dos คือปริมาณวัคซีนต่อการฉีดหนึ่งครั้ง) ภายในปี 2564

วัคซีนตัวที่สองมีชื่อว่า Moderna ผลงานของ National Institute of Allergy and Infectious Diseases ของสหรัฐ มีประสิทธิผล 90% ต้องฉีด 2 เข็ม และเก็บรักษาใน -70 องศาเซลเซียสเช่นเดียวกับของ Pfizer คาดว่าจะเริ่มฉีดได้ไม่เกินต้นปีหน้า

วัคซีนตัวที่สามที่ผู้คนฮือฮากันมาก เพราะเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทยากับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง คือ Astra Zeneca-Oxford University ฉีด 2 เข็มเหมือนกัน มีประสิทธิผล 70% แต่หากฉีดเข็มแรกใช้ปริมาณวัคซีนน้อย และมากในการฉีดครั้งที่สอง ประสิทธิผลก็ขึ้นไปถึง 90% จะผลิตได้ 2,400 ล้านโดสภายในปีหน้า จะยื่นข้อมูลครบ ม.ค.ปีหน้า และจะเริ่มฉีดได้ต้นปีหน้า จุดเด่นคือเก็บในตู้เย็นธรรมดาได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องราคา

Pfizer คาดว่ามีราคาโดสละ 600 บาท (2 เข็มตก 1,200 บาท) Moderna โดสละ 1,000 บาท (ฉีดครบก็ 2,000 บาท) ส่วนของ Oxford นั้น มีราคาโดสละ 120 บาท (ฉีดสองเข็มก็ 240 บาท)

เป็นที่ชัดเจนว่าโลกจะมีวัคซีนอย่างค่อนข้างแน่นอนแล้ว 3 ตัว ในราคาถูกและแพง มีประสิทธิผลเกินกว่า 70% ซึ่งเกินกว่าเงื่อนไขของ WHO (องค์การอนามัยโลก) คนจำนวนมากที่เสี่ยงต่อโควิดคือบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งอยู่แถวหน้าในการรักษา คนสูงอายุที่ป่วยและคนเจ็บไข้ที่มีความเสี่ยงสูง จะได้รับการฉีดก่อน

อย่างไรก็ดี ยังมีวัคซีนที่กำลังอยู่ในขั้นทดลองสุดท้ายไล่ๆ มาอีก 7 ตัว (รวมเป็น 10 ตัวที่อยู่ในแนวหน้า) 4 ตัวทั้งหมดใน 7 ตัวนี้คาดว่าจะเปิดเผยและรายงานข้อมูลได้ในเดือน ม.ค.ปีหน้า เป็นผลงานของจีน ได้แก่ (1) Sinovac ตอนแรกนำโด่งกว่าวัคซีนตัวอื่นเพราะใช้วัคซีนป้องกัน SARS ที่จีนคิดได้เป็นฐาน โดยใช้การผลิตแบบดั้งเดิม คือใช้เชื้อโรคตัวเดียวกันที่อ่อนแรงแล้วฉีดเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แต่มีอุปสรรคตอนทดลองกับมนุษย์ในขั้นสุดท้ายจึงเสียจังหวะไป

(2) Wuhan Institute of Biological Products-Sinofarm (3) Beijing Institute of Biological Products-Sinofarm (4) Cansino Biologics-Beijing Institute of Biotechnology

นอกจากนี้มีอีก 3 ตัว ได้แก่ (1) Sputnik 5 (Gamaleya Research Institute) ของรัสเซีย คาดว่าจะรายงานและเปิดเผยข้อมูลในเดือน มี.ค. (2) Johnson & Johnson (ของ Janssen Pharmaceutical Companies) ของสหรัฐ คาดว่าจะรายงานได้ในเดือน ก.พ.และสุดท้าย (3) Novavax ของสหรัฐจะรายงานได้ในเดือน มิ.ย.ของปีหน้า หลังจากมีการทดลองในมนุษย์ถึง 45,000 คน คาดว่าจะผลิตได้ถึง 1,300 ล้านโดส

การมีวัคซีนแนวหน้าที่มีโอกาสให้ผู้คนได้ฉีดป้องกันโควิดถึง 10 ตัว ทำให้เกิดความอุ่นใจถึงแม้ประเทศร่ำรวยและยากจนจะมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนไม่เท่ากันก็ตาม แต่วัคซีนทั้งหมดมีประสิทธิผลหรือใช้งานได้ผล (efficacy ซึ่งหมายถึงความสามารถที่จะทำให้เกิดผลได้ตามประสงค์) ในระดับที่ต่างกันแต่สูงกว่า 50% ทั้งสิ้น และมีหลายระดับราคา บางประเทศจะให้ประเทศที่มีความจำเป็นสูงอย่างให้เปล่าหรือขายในราคาถูก หรือแม้แต่มอบให้ฟรี

จีนมีแนวโน้มที่จะส่งมอบให้แก่ประเทศที่ร่วมมือในการทดลองเช่นบางประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม ฯลฯ ก่อนเป็นอันดับต้นๆ (ไทยอยู่ในลิสต์ที่มีชื่อว่า Promised Priority Access ซึ่งต่ำกว่ากลุ่ม Promised Vaccines ซึ่งได้แก่ เนปาล เซอร์เบีย และศรีลังกา)

แท้จริงแล้ว จีนมีความมั่นใจในวัคซีนของเขาสูงเพราะได้ทดลองฉีดเงียบๆ เป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ทั้งคนในประเทศและคนในหลายประเทศเอเชีย คาดว่าจะสามารถส่งมอบได้นับร้อยๆ ล้านโดสในปี 2564 นับว่าเป็นการสร้างมิตรภาพได้เป็นอย่างมาก

สิ่งที่ควรตระหนักก็คือ การมีวัคซีนมิได้หมายความว่าจะควบคุมโรคระบาดโควิดได้อยู่หมัดทั้งโลก การที่บุคคลหนึ่งได้รับการฉีดวัคซีนก็เป็นผลดีสำหรับบุคคลนั้น (ถึงแม้จะป้องกันไม่ได้ 100% ก็ตาม) แต่ในภาพรวมสังคมจะหลุดพ้นภัยก็ต่อเมื่อบุคคลในประเทศนั้นได้รับวัคซีนเกินกว่าร้อยละ 50 และเกิด herd immunity (ภูมิคุ้มกันของกลุ่มที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ) ขึ้น ยิ่งวัคซีนมีประสิทธิผลต่ำเท่าใด ก็ต้องฉีดวัคซีนเป็นสัดส่วนของประชากรที่สูงขึ้นเพียงนั้น

เมื่อดูภาพรวมทั้งโลกซึ่งการติดต่อข้ามโลกถึงกันเป็นเรื่องปกติ สังคมอื่นๆ ต้องมี herd immunity ด้วย จึงจะทำให้สังคมหนึ่งปลอดภัยอย่างแท้จริง เมื่อเป็นเช่นนี้ การมีวัคซีนจึงมิได้แก้ไขปัญหาโควิดได้ทั้งหมดเสียทีเดียว ตราบที่สังคมอื่นทั่วโลกยังไม่ได้รับการฉีดในสัดส่วนของประชากรที่มากเพียงพอ

เท่าที่ทราบในบ้านเราสถาบันวัคซีนแห่งชาติภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนหาวัคซีนโควิดมาให้คนไทยอย่างแข็งขัน ได้รับวงเงินจากรัฐบาลในระดับหลายหมื่นล้าน ได้ทำสัญญากับโครงการ COVAX ของ WHO เพื่อให้ได้รับการจัดสรรวัคซีน และทำสัญญาคู่กับหลายวัคซีนตัวเก็งด้วย คนไทยบางส่วนคงได้โดนจิ้มแขนกันแน่ภายในครึ่งแรกของปีหน้า

มนต์คาถา “ล้างมือ-รักษาระยะห่าง-ใส่หน้ากาก” ศักดิ์สิทธิ์เสมอในช่วงเวลาก่อนที่จะได้รับการฉีดวัคซีน หรือแม้แต่หลังฉีดแล้วด้วยซ้ำตราบที่สังคมอื่นยังไม่มีสัดส่วนการฉีดที่มากเพียงพอ อย่าลืมว่าวัคซีนที่ป้องกันได้ 100% นั้นไม่มี