บีโอไอดันเมดิคัลฮับลงทุนการแพทย์โต 75%

บีโอไอดันเมดิคัลฮับลงทุนการแพทย์โต 75%

การลงทุนอุตสาหกรมการแพทย์ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นหลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งได้มีการส่งเสริมเพื่อเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่และให้ไทยพึ่งพาตัวเองได้ โดยเฉพาะช่วงที่มีโรคระบาด

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาครัฐส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (เมดิคัลฮับ) ซึ่งบีโอไอออกมาตรการเร่งรัดการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์เพื่อรับมือโควิด-19 ทำให้ช่วง 9 เดือน เดือนแรกปี 2563 มีผู้ขอส่งเสริมการลงทุน 65 โครงการ เพิ่มขึ้น 132% เทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่าการลงทุนเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 75% และหากนับตั้งแต่ปี 2561 ถึง ก.ย.2563 มีผู้ขอรับส่งเสริม 129 โครงการ มูลค่า 30,887 ล้านบาท

 

สถิติที่ผ่านมากิจการในกลุ่มการแพทย์พบการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเฉลี่ยปีละ 30 โครงการ แต่มียอดพุ่งสูงขึ้นถึงกว่า 60 โครงการ ช่วง 9 เดือนของปี 2563 เพราะโควิด-19 และคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2564 จากมาตรการกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ของบีโอไอ

 

นอกจากนี้ วันที่ 4 พ.ย.2563 บีโอไอให้ส่งเสริมกิจกิจการการวิจัยทางคลินิก (Clinical Research) ครอบคลุม 2 กิจการ คือ 1.กิจการสนับสนุนและบริหารจัดการการวิจัยทางคลินิก 2.ศูนย์การวิจัยทางคลินิก โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ไม่จำกัดวงเงิน ซึ่งช่วยให้สถาบันการแพทย์ไทยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก

 

“บีโอไอออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนธุรกิจนี้ทุกด้าน ทั้งการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ การวิจัยพัฒนายาและวัคซีน รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ห้องทดลองและศูนย์วิจัย เพื่อให้ไทยพึ่งตัวเองได้ทุกด้าน”

160682651669

ซ่อนกลิ่น พลอยมี ที่ปรึกษาด้านการลงทุน บีโอไอ กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมทางการแพทย์ครอบคลุมถึงการส่งเสริมการลงทุนห้องทดลองและศูนย์วิจัยทางการแพทย์ ที่ให้สิทธิประโยชน์สูงสุดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 8 ปี ซึ่งเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมทางการแพทย์ชั้นสูง เพราะช่วยลดต้นทุนการทดสอบยาและวัคซีน โดยเฉพาะยาและวัคซีนกลุ่มชีวภาพ ทำให้ไม่ต้องส่งไปทดสอบที่ต่างประเทศ ซึ่งมีเอกชนหลายรายสนใจลงทุนกลุ่มนี้

 

“ไทยได้เปรียบที่มีตลาดขนาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ มีต่างชาติใช้บริการมาก มีโรงพยาบาลกว่า 400 แห่ง ตลาดเติบโตปีละ 10% และน่าเชื่อถือสูง ซึ่งหากไทยลงทุนห้องทดลองและศูนย์วิจัยจะส่วนสำคัญในการดึงดูดอุตสาหกรรมการผลิตยา วัคซีนและชุดทดสอบตรวจโรคเข้ามา เพราะลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนศูนย์วิจัยชั้นสูง”

 

 สำหรับแผนการดำเนินงานของบีโอไอ ได้ให้สำนักงานในต่างประเทศทุกแห่งรวบรวมรายชื่อบริษัทเป้าหมายด้านการแพทย์ ที่มีจำนวนหลายสิบราย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละบริษัทอย่างตรงจุด โดยส่วนใหญ่อยู่ในจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐและเยอรมัน ซึ่งจะดึงเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ที่เหมาะสมกับไทยและใช้วัตถุดิบในประเทศ

สุธีรา เดชคุณวุฒิ ประธานกรรมการ บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) กล่าวว่า ได้รับการส่งเสริมการลงทุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตที่ใช้เซลล์พืช เงินลงทุน 3.94 ล้านบาท ผลิตเพื่อส่งออก 70% โดยจะมีโครงการผลิตโปรตีนตัดแต่งจากการใช้ใบยาสูบสายพันธุ์ออสเตรเลีย เพื่อเป็นแหล่งผลิตโปรตีนแบบชั่วคราว

 

ทั้งนี้ ถือเป็นรายแรกในไทยที่ใช้ใบยาสูบเป็นเจ้าบ้าน หรือที่เรียกว่า Host และเพาะเลี้ยงโปรตีน ตัดแต่งที่มียีนเป้าหมาย จากนั้นจึงสกัดโปรตีนที่ได้ ออกจากใบของต้นยาสูบ และทำให้บริสุทธิ์ เพื่อจำหน่ายเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับอุตสาหกรรมยา และเครื่องสำอาง

 

ขณะนี้กำลังพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมี 6 ชนิด ได้ทำการทดลองในสัตว์แล้ว 4 ชนิด สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี และจะทำการทดสอบในมนุษย์ 1 ชนิดในช่วงกลางปี 2564 ได้ผลทดสอบในปลายปี และคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายได้ต้นปี 2565 ซึ่งขณะนี้ระดมเงินลงทุน 500 ล้านบาท เพื่อตั้งโรงงานผลิตวัคซีนมีกำลังผลิต 2 ล้านโดส ต่อเดือน เพิ่มจากปัจจุบันที่ผลิต 2 แสนโดสต่อเดือน ซึ่งมั่นใจว่าจะมีราคาต่ำกว่าวัคซีนนำเข้า ทำให้ไทยพึ่งพาตัวเองได้ และส่งออกไปในภูมิภาคนี้

  160682656258

นอกจากนี้ ได้วิจัยผลิตยารักษาโควิด-19 โดยรอทดสอบในสัตว์ทดลอง หากผ่านการทดสอบในสัตว์และมนุษย์จะเริ่มผลิตจำหน่าย ซึ่งจะเร็วกว่าการทดสอบวัคซีน ทำให้ไทยผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 และผลิตยารักษาโควิด-19 ได้ด้วย ซึ่งทำให้ไทยพึ่งตัวเอง และหลังจากผ่านช่วงโควิด-19 จะมาผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นยาชีวภาพที่ออกฤทธิ์ต่อเซลมะเร็งที่กระทบเซลอื่นน้อย โดยมุ่งไปสู่ยาจากไบโอเทคโนโลยีที่มีราคาแพง เพื่อให้คนไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้ใช้ยาราคาถูก

 

พุทธิมน ศรีบนฟ้า ประธานกรรมการบริษัท แนบโซลูท จำกัด สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะจาก CU Innovation Hub กล่าวว่า ได้รับส่งเสริมกิจการทดสอบประสิทธิภาพของชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ป้องกันเชื้อไวรัส โดยวิธีทดสอบการทะลุผ่านของเชื้อไวรัส ซึ่งทดสอบได้ทั้งในรูปแบบตัวอย่างผ้าของชุด PPE หรือทดสอบทั้งชุด PPE และการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารตั้งต้นและผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องสำอาง ยา สารสกัด และสารออกฤทธิ์