“แม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น” ทุ่ม 2 พันล้านบาท ดันความร่วมมือการแพทย์

“แม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น” ทุ่ม 2 พันล้านบาท ดันความร่วมมือการแพทย์

ครม.เดินหน้าความร่วมมือแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นสนับสนุน 2 พันล้านบาท เพื่อความร่วมมือทางการแพทย์ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในชนบท

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ว่า ครม. เห็นชอบผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 13 และมอบหมายส่วนราชการเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสาระสำคัญของการประชุมมีดังนี้

 

1.ประเทศญี่ปุ่นได้ปรับเพิ่มจำนวนเงินช่วยเหลือจากเดิม 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,680 ล้านบาท) สำหรับการขยายความร่วมมือด้านวิชาการแก่บุคลากรทางการแพทย์และการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลและสถาบันทางการแพทย์อื่นๆ ในประเทศลุ่มน้ำโขง

2.อาเซียนได้มีข้อริเริ่มการจัดตั้งกองทุนเพื่อรับมือกับโควิด-19 และสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขอื่นๆ ในอนาคตและการจัดตั้งคลังสำรองระดับภูมิภาคสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์และมาตรการดำเนินการที่มีมาตรฐานในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข

 

3.ประเทศไทยมีข้อเสนอเรื่อง “Project on sharing experiences and knowledge transfer through cross-border medical networking system” เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้และการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือกับโรคระบาด

 

4.การยืนยันความมุ่งมั่นในการบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อกลุ่มผู้เปราะบาง การส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร การเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาคเอกชนและภาคนวัตกรรมในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพตามหลักการ G20 ว่าด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ

 

5.ญี่ปุ่นได้มีข้อริเริ่ม KUSANONE Mekong SDG Initiative โดยจะสมทบเงิน 1,000 ล้านเยน (ประมาณ 300 ล้านบาท) สำหรับปี ค.ศ. 2020 เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ของชนบทและหมู่บ้านทั่วภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

 

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นนี้ เป็นเวทีส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนานอกภูมิภาคคือญี่ปุ่น

 

โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน การลดความเหลื่อมล้ำ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทางสังคม รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ทั้งนี้การดำเนินการตามมติฯจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นและประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการรับมือกับการระบาดของโควิด19 และสนับสนุนการทำงานร่วมกันเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน